ถอดรหัสวิสัยทัศน์ของแอปเปิล (Apple) จากกองทัพสินค้าที่ถูกเปิดตัวล่าสุด นักวิเคราะห์ฟันธงการอัปเกรด iPhone SE และ iPad Air ในตลาดโลว์เอนด์ด้วย 5G นั้นมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับการเสริมเขี้ยวเล็บให้คอมพิวเตอร์ Mac Studio ในตลาดไฮเอนด์ด้วยชิปที่เร็วขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนตลาดโฮมยูส หรืออุปกรณ์ไอทีที่ออกแบบมาให้ใช้งานที่บ้าน
ทิม คุก (Tim Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอปเปิล ไม่ได้แสดงความเห็นด้วยหรือปฏิเสธเสียงวิเคราะห์ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวถึงการเปิดตัว iPhone SE รุ่นใหม่ว่าถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้ปัจจุบันของแอปเปิลที่ต้องการ “iPhone ขนาดเล็กกว่าในราคาที่คุ้มค่า” มาใช้งาน ซึ่งแปลว่า iPhone SE ใหม่เกิดขึ้นจากการประเมินความต้องการในตลาด เช่นเดียวกับการเปิดตัวเป็นเดสก์ท็อปใหม่ในชื่อ Studio พร้อมกับชิปรุ่นล่าสุด M1 Ultra โดยที่ยังเพิ่มให้ iPad Air มีชิป M1 ที่แอปเปิลพัฒนาขึ้นสำหรับแล็ปท็อปด้วย
ไฮไลต์สำคัญของความเคลื่อนไหวแอปเปิลในรอบนี้อยู่ที่การพัฒนาชิป โดย นีล ชาห์ (Neil Shah) นักวิเคราะห์จากเคาน์เตอร์พอยท์รีเสิร์ช (Counterpoint Research) กล่าวในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กลยุทธ์การพัฒนาชิปของแอปเปิลนั้นถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แอปเปิลสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอชิปเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง ให้เป็นตัวขับเคลื่อนอุปกรณ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นตั้งแต่ iPhone SE ราคาไม่ถึง 2 หมื่นบาท ไปจนถึงคอมพ์ทรงพลังอย่าง Mac Studio แม้ว่า Mac Pro รุ่นใหญ่ของแอปเปิลจะยังคงทำงานบนไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทล (Intel) ก็ตาม
สำหรับ iPhone SE ใหม่ที่ถูกปรับราคาขึ้นเล็กน้อยอีก 1,000 บาท แลกกับชิป A15 Bionic ซึ่งแอปเปิลการันตีว่าเป็นรุ่นที่เร็วที่สุดในท้องตลาด นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า iPhone SE รุ่นใหม่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่กำลังมองหาอุปกรณ์ 5G ราคาประหยัด และอาจได้รับความนิยมเป็นพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพีกของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งล่าสุดแอปเปิลได้ออกแถลงการณ์ว่าตัดสินใจหยุดการขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในรัสเซียชั่วคราวเพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่สื่อทางการของรัสเซียชี้ว่าการระงับบริการมีผลถึงการดาวน์โหลดบนแอปสโตร์ (Apple Store) ด้วย
***ไฮไลต์เด่น Mac Studio เครื่องแมคที่แรงที่สุด
กลายเป็นว่าไฮไลต์สำคัญของสินค้าใหม่ที่ แอปเปิล เปิดตัวกลับไปตกอยู่ที่ Mac Studio และ Studio Display ที่เป็นทั้งเครื่องแมค และหน้าจอแสดงผลรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเผยโฉมมาก่อน พร้อมกับชิปเซ็ต Apple Silicon รุ่นใหม่อย่าง M1 Ultra ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น และกลายเป็นชิปเซ็ตที่แรงที่สุดของแอปเปิลในเวลานี้
ในแง่ของการใช้งาน Mac Studio จะเข้ามาแทนที่กลุ่มผู้ใช้งาน Mac Pro เดิม หรือแม้แต่ iMac 27” ที่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผล ด้วยการนำเสนอเครื่องแมค ขนาดเล็ก 19.7 x 9.5 เซนติเมตร ที่มาพร้อมกับพอร์ตเชื่อมต่อครบถ้วนสำหรับการใช้งานทั้ง Thunderbolt 4, USB-C, USB-A, HDMI, LAN 10 Gb, ช่องอ่านเอสดีการ์ด และช่องสัญญาณเสียงสำหรับหูฟัง รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย Wi-Fi6 และบลูทูธ 5.0 เพื่อเข้าไปจับกลุ่มผู้ใช้งานในสตูดิโอ โปรดักชัน งานออกแบบ นักพัฒนาแอป ช่างภาพ นักตัดต่อวิดีโอให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เพราะสามารถเชื่อมต่อกับจอ 6K ได้สูงสุด 4 จอ และทีวี 4K อีก 1 เครื่อง
ส่วน Studio Display ที่เป็นหน้าจอ Retina 5K ขนาด 27 นิ้วดีไซน์อะลูมิเนียม มาพร้อมฐานปรับความเอียง และความสูงแบบถ่วงน้ำหนัก ให้ความสว่างหน้าจอสูงสุด 600 นิต รองรับการแสดงขอบเขตสีกว้างระดับ P3 และแสดงผลสีกว่า 1 พันล้านสี รวมถึงระบบเสียง Dolby Atmos จากลำโพง 6 ตัว และกล้องเว็บแคมความละเอียด 12 ล้านพิกเซลให้ใช้งาน
ตัวหน้าจอยังรองรับการเชื่อมต่อ USB-C จำนวน 3 พอร์ต และมีช่องต่อ Thunderbolt เพื่อเชื่อมต่อกับ Mac ด้วยสายเส้นเดียวที่สามารถจ่ายไฟ 96W ให้แมคบุ๊กได้ด้วย ภายในมีชิปเซ็ตประมวลผล A13 Bionic มาช่วยในการจัดการพลังงาน และระบบภาพเพิ่มเติมด้วย
เบื้องต้น Mac Studio วางจำหน่ายด้วยกัน 2 รุ่นหลักคือ รุ่นเริ่มต้นที่มากับชิปเซ็ต M1 Max ในราคา 69,900 บาท และรุ่นที่มากับ M1 Ultra ในราคาเริ่มต้น 139,900 บาท ส่วนหน้าจอ Studio Display เริ่มต้นที่ 54,900 บาท
***M1 Ultra แรงกว่า M1 8 เท่า
จุดที่ทำให้ Mac Studio โดดเด่นขึ้นมาคือการพัฒนาชิปเซ็ต M1 Ultra ขึ้นมาใช้งานบนเครื่องแมค ด้วยการลบข้อจำกัดในแง่ของการใช้พลังงานบน MacBook Pro ทำให้สามารถออกแบบเดสก์ท็อปที่ใช้พลังงานมากขึ้น และให้ผลลัพธ์ในการประมวลผลที่แรงขึ้นด้วย
เบื้องหลังการทำงานของ M1 Ultra คือแอปเปิลเลือกนำเทคโนโลยี UltraFusion มาเชื่อมต่อแผงวงจร M1 Max สองตัวเข้าด้วยกัน ทำให้กลายเป็น SoC (Systems On Chip) ที่แรงที่สุดในเครื่องแมคเวลานี้ โดยมีจุดเด่นในแง่ของหน่วยความจำแบนด์วิดท์สูงสุด 128 GB ทำงานร่วมกับซีพียู 20 คอร์ จีพียู 64 คอร์ และเอ็นพียู 32 คอร์
ด้วยจำนวนซีพียูที่เพิ่มขึ้น ทำให้ M1 Ultra แรงกว่าชิปเดสก์ท็อปแบบ 16 คอร์ในท้องตลาดที่เร็วที่สุดถึง 90% และยังใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 100 วัตต์ ในขณะที่ด้านกราฟิก M1 Ultra มีประสิทธิภาพเร็วกว่า GPU สูงสุดในพีซี เพราะเร็วกว่า M1 รุ่นปกติถึง 8 เท่า และใช้พลังงานน้อยกว่าถึง 200 วัตต์
การเปิดตัว M1 Ultra ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของแอปเปิลในการเปลี่ยนผ่านชิปซีพียูที่แต่เดิมวางช่วงระยะเวลาไว้ราว 2 ปี ตั้งแต่การออกชิปเซ็ต M1 ใน MacBook Air ช่วงปลายปี 2020 ตามด้วยการออก M1 Pro และ M1 Max สำหรับ MacBook Pro ช่วงปลายปี 2021 และปิดท้ายด้วย M1 Ultra สำหรับเครื่องแมคประสิทธิภาพสูง
***iPhone SE รุ่น 3 ที่แรงกว่าแอนดรอยด์ไฮเอนด์ในท้องตลาด
การนำชิปเซ็ต Apple A15 Bionic มาใช้งานบน iPhone SE รุ่นปี 2022 ทำให้รุ่นนี้กลายเป็น iPhone ราคาเข้าถึงได้ (15,900 บาท) ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับใช้งาน และเล่นเกม แรงกว่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในท้องตลาดทั้งหมด และเมื่อเพิ่มการรองรับ 5G ทำให้เปิดโอกาสในการใช้งานที่กว้างขึ้นให้แก่ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของดีไซน์เดิมที่แอปเปิลใช้งานมาตั้งแต่ iPhone 8 ทำให้การอัปเกรดของ iPhone SE ในปีนี้จะเน้นที่การนำความสามารถของ A15 Bionic มาใช้งานในการประมวลผลภาพเพิ่มเติม ร่วมกับกล้อง 12 ล้านพิกเซล ที่สามารถถ่ายภาพแบบ HDR เก็บรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่รองรับการถ่ายภาพกลางคืน
ในขณะที่ขนาดหน้าจอ 4.7 นิ้ว ก็ทำให้ iPhone SE ยังคงเป็นไอโฟนที่มีขนาดหน้าจอเล็กที่สุด แม้จะเทียบกับ iPhone 13 mini ก็ยังมีหน้าจอแสดงผลขนาด 5.4 นิ้ว มาให้ใช้งาน และอีกจุดที่ปรับปรุงขึ้นคือเรื่องของแบตเตอรี่ที่แอปเปิลระบุว่าใช้งานได้นานขึ้นกว่าเดิม 2 ชั่วโมง และรองรับชาร์จเร็ว 50% ภายใน 30 นาที เมื่อใช้กับอะแดปเตอร์ขนาด 20 วัตต์
iPhone SE วางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 3 สีคือขาว ดำ และแดง ในรุ่น 64 GB 128 GB และ 256 GB ราคาเริ่มต้น 15,900 บาท โดยจะเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าในวันที่ 18 มี.ค. ก่อนวางขายในวันที่ 25 มี.ค.
***iPad Air กับชิป M1
ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ถือว่าเป็นการอัปเดตแบบไมเนอร์เชนจ์คือ iPad Air รุ่นที่ 5 ซึ่งปรับมาใช้ชิปเซ็ต Apple M1 เหมือนใน iPad Pro เรียบร้อยแล้ว ทำให้ได้ iPad Air ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถรองรับการใช้งานแบบมัลติทาสก์ โดยทำงานร่วมกับ iPadOS ได้อย่างลื่นไหล ทำให้รองรับการใช้งานที่เพิ่มเติมขึ้นจากการใช้เพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ แต่ยังรองรับการปรับแต่งภาพ จนถึงการตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูง
ในแง่ของดีไซน์ iPad Air ยังคงเดิมอย่างหน้าจอ 10.9 นิ้ว มาพร้อมปุ่มเปิดเครื่องพร้อมเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ (TouchID) สามารถเชื่อมต่อกับปากกา Apple Pencil รุ่นที่ 2 ผ่านแม่เหล็กที่อยู่ด้านข้างเครื่อง ปรับปรุงกล้องหน้าด้วยเลนส์มุมกว้าง 12 ล้านพิกเซล รองรับฟีเจอร์ “การจัดให้อยู่ตรงกลาง” สำหรับเลื่อนเฟรมภาพให้ใบหน้าอยู่ตรงกลางตลอดเวลาในยุคที่การใช้งานวิดีโอคอลล์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต ตัวเครื่องยังมีรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม iPad Air ยังไม่มีความสามารถหลายอย่างที่ iPad Pro มีอย่างเรื่องหน้าจอแสดงผลแบบ ProMotion 120 Hz กล้องหลังคู่พร้อม LiDAR พอร์ตเชื่อมต่อยังเป็น USB-C (10 Gbps) ไม่ใช่ Thunderbolt (40 Gbps) มีให้เลือกขนาดความจุเพียง 64 GB และ 256 GB เท่านั้น ราคาเริ่มต้น 20,900 บาท
ดังนั้น iPad Air ยังคงเหมาะกับคอนซูเมอร์ที่ต้องการแท็บเล็ตครบเครื่องมาตอบโจทย์การใช้งาน และความบันเทิง มากกว่าการเป็นแท็บเล็ตที่เน้นด้านโปรดักทิวิตีเหมือนใน iPad Pro ที่ราคาเริ่มต้นต่างกันราว 7,000 บาท
ที่สุดแล้ว มูลค่าหุ้นแอปเปิลทรงตัวไม่เพิ่มไม่ลดหลังการโชว์ตัวสินค้าใหม่ สะท้อนว่านักลงทุนมองเห็นทั้งปัจจัยบวกและลบในกลยุทธ์การกินรวบตลาดบน-ล่างที่แอปเปิลวางเกมไว้ จุดนี้ นาบิลา โปปาล (Nabila Popal) นักวิเคราะห์ของไอดีซี (IDC) กล่าวกับรอยเตอร์โดยยกตัวอย่าง iPhone SE รุ่นที่ 3 ว่า iPhone ที่ราคาถูกกว่าพร้อม 5G ถือเป็นข่าวดีสำหรับแอปเปิลในช่วงเวลาแห่งการผันผวนก็จริง แต่ความต้องการใช้งานหน้าจอขนาดใหญ่อาจส่งผลเสียต่อยอดขาย iPhone SE อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้บริโภคบางรายอาจเลือกใช้ iPhone รุ่นเก่าที่มีหน้าจอใหญ่ขึ้นในช่วงราคาใกล้กันมากกว่า
อ่านเกม Apple กินรวบตลาดบน-ล่าง? - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment