Rechercher dans ce blog

Saturday, July 15, 2023

รีวิว Lenovo Legion Slim 5i แรงทรงพลัง น้ำหนักพอดี ถูกใจ - NBS

Lenovo Legion Slim 5i ภาคต่อความบางกับชิปรุ่นใหม่และฟีเจอร์ที่ล้นเครื่องเหมือนเดิม!

Lenovo Legion Slim 5i

ภาพของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ในใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นโน๊ตบุ๊คเครื่องหนา หนัก พกพายากแน่ๆ แต่ Lenovo Legion Slim 5i เป็นหนึ่งในซีรี่ส์ที่ฉีกขนบความหนาเดิมๆ ให้บางลงอีกนิด พกง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วยความบาง 19.7 มม. และเคลมน้ำหนักเบากว่า 2.4 กิโลกรัม แต่ยังคงคุณภาพงานประกอบดี แข็งแรงทนทานและยกเอกลักษณ์ดีๆ ของตระกูล Legion มาใส่อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะระบบระบายความร้อน Legion Coldfront เวอร์ชั่นใหม่ 5.0 ได้หน้าจอคุณภาพสูงซึ่งเหมาะทั้งใช้ทำงานและเล่นเกม ได้ค่า Refresh Rate ดีขึ้นเป็น 240Hz ซึ่งดีกว่ารุ่นก่อนอย่างชัดเจน รวมถึงคีย์บอร์ด Legion TrueStrike พร้อมไฟ 4-Zone RGB และรองรับ 100% Anti-Ghosting จะรัวปุ่มตอนเล่นเกมเพื่อชิงจังหวะในนาทีสำคัญแค่ไหนก็ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

นอกจากฟีเจอร์ใหม่ๆ จากทางบริษัทแล้ว ยังได้อัพเกรดสเปคให้ทันสมัย ทั้ง Intel 13th Gen กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4000 Series ได้แรม DDR5 รุ่นใหม่ แถมดีกว่ารุ่นก่อนด้วยฟีเจอร์ Lenovo AI Engine+ ฟีเจอร์ใช้ AI ของชิป Lenovo LA1 ไว้เพิ่มเฟรมเรทและความไหลลื่นตอนเล่นเกมให้ดีขึ้น เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นแรกๆ ที่เอา AI มาใช้งาน แถมอัพเกรดเพิ่มความจุ RAM, SSD ได้เช่นเดียวกับ Legion รุ่นก่อนด้วย เรียกว่ายกสิ่งที่เกมเมอร์ชอบมาใส่อย่างครบถ้วนและใส่สิ่งใหม่ๆ มาให้ใช้อีกด้วย

Advertisement

DSC00110

NBS Verdicts

DSC00118

Lenovo Legion Slim 5i เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คภาคต่อของซีรี่ส์ Legion Slim ซึ่งนอกจากจะยกบอดี้ดีไซน์เดิมที่แข็งแรงสวยงามมาใช้งานต่อ, อัพเกรดสเปคให้ทันสมัยทั้งซีพียู, การ์ดจอ, ระบบระบายความร้อนให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม, ติดตั้งพอร์ตมาให้ครบถ้วนแล้ว ยังใส่ชิป Lenovo LA1 มาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตัวเครื่องให้ดียิ่งขึ้น ไหนจะอัพเกรด RAM ได้ 32GB DDR5 รองรับบัส 4800 / 5200MHz ได้ และช่อง M.2 NVMe SSD ทุกช่องก็เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 หมดแล้ว ใส่ SSD เวอร์ชั่นใหม่ก็อ่านเขียนไฟล์ได้เร็วทันใจยิ่งขึ้นอีก

หน้าจอของ Legion Slim 5i ก็ยังคงน่าใช้เช่นเดิม ได้ขนาดใหญ่ 16 นิ้ว ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ดีต่อคนทำงานกราฟิคทั้งตัดต่อคลิป, แต่งภาพ, ปั้นโมเดล 3D ทั้งนั้น นับเป็นโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ภายในคราบของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คก็ว่าได้ ถ้าเล่นเกมก็ยิ่งเข้าทางเพราะมันอัพเกรดค่า Refresh Rate ไป 240Hz ให้ภาพลื่นไหล ได้ NVIDIA G-SYNC ป้องกันภาพฉีกขาดตอนเล่นเกมได้ เข้าคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4000 Series ได้เป็นอย่างดี ได้คีย์บอร์ด 100% Anti-Ghosting ให้กดใช้งานได้ทุกปุ่มพร้อมกันโดยไม่มีปัญหา แถมยังเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E ซึ่งทั้งเร็วและเสถียรได้ด้วย

จุดน่าเสียดายอย่างแรกคือ ไม่มีปุ่ม Power แบบมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเหมือน Legion Slim 7 ซึ่งนอกจากสะดวกปลดล็อคง่ายแค่นาบนิ้วลงไปก็ปลดล็อคทันทีแถมปลอดภัยมาก กลับกันเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบรนด์คู่แข่งหลายๆ รุ่นก็ใส่เซนเซอร์สแกนนิ้วหรือเป็นกล้อง IR สแกนใบหน้ามาให้แล้ว ให้ดีก็หวังว่าในรุ่นถัดไป ทาง Lenovo จะใส่ฟังก์ชั่นนี้มาให้ด้วย นอกจากนี้ระบบการจัดการแบตเตอรี่อาจต้องอัพเดท BIOS เพิ่มให้ใช้งานได้นานขึ้น เพราะความจุ 86Wh ในเครื่องทดสอบใช้งานได้นานแค่ 3 ชั่วโมง 34 นาที ซึ่งแบตเตอรี่ระดับนี้ควรใช้งานได้นานระดับ 5 ชั่วโมงขึ้นไป

ข้อดีของ Lenovo Legion Slim 5i

  1. ชิป Lenovo LA1 ช่วยเร่งประสิทธิภาพตอนทำงานและเล่นเกมได้ดีมาก ตั้งโหมด Auto ใช้งานได้เลย
  2. สเปคได้อัพเกรดเป็น Intel 13th Gen, NVIDIA GeForce RTX 4000 Series รุ่นใหม่ล่าสุดแล้ว
  3. การ์ดจอ NVIDIA GeForce รองรับ DLSS 3 และเป็นรุ่นวัตต์สูง ได้เวลาเล่นเกมแล้วได้เฟรมเรทสูง
  4. อัพเกรดแรมเป็น DDR5 แล้ว รองรับความจุสูงสุด 32GB รองรับบัสสูงถึง 5600MHz
  5. พาเนลหน้าจอ IPS ได้ค่า Refresh Rate สูงถึง 240Hz อัพเกรดจากรุ่นเก่าที่เป็น 165Hz แล้ว
  6. หน้าจอมีโหมด Dynamic เปลี่ยนค่า Refresh Rate ได้ตามเหมาะสมของแต่ละคอนเทนต์
  7. หน้าจอรองรับ VESA DisplayHDR 400, NVIDIA G-SYNC ขอบเขตสี 100% sRGB ใช้ทำงานครีเอเตอร์หรือเพื่อความบันเทิงก็ดี
  8. คีย์บอร์ดเป็น 4-Zone RGB ให้สีสันสวยงาม รองรับ 100% Anti-Ghosting ใช้เล่นเกมได้ดีมาก
  9. ช่อง M.2 NVMe SSD เป็น PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่แล้ว ใส่ SSD เวอร์ชั่นใหม่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
  10. เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E ได้ ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียร ใช้งานได้เป็นอย่างดี
  11. พอร์ต USB-C ใช้ต่อหน้าจอแยกได้ทั้งคู่ และมีช่องใช้ชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ด้วย
  12. ระบบระบายความร้อน Legion Coldfront 5.0 ระบายความร้อนได้เร็วแม้เครื่องจะมีอุณหภูมิสูงก็ตาม
  13. หน้าจอกางได้แบนราบ 180 องศา กางจอให้เพื่อนดูได้ง่าย ปรับจอวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คได้สะดวก

ข้อสังเกตของ Lenovo Legion Slim 5i

  1. อุณหภูมิตัวเครื่องตอนรันเต็มประสิทธิภาพค่อนข้างร้อน อุณหภูมิสูงถึง 100 องศา
  2. แบตเตอรี่ใช้งานได้นานสุด 3 ชั่วโมง 34 นาทีเท่านั้น เพราะเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจึงใช้พลังงานมาก
  3. ตัดเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือออกไปทั้งที่ Legion Slim 7 มีให้ใช้งาน

รีวิว Lenovo Legion Slim 5i

Specification

legionslim5spec

Lenovo Legion Slim 5i เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์ Slim ดีไซน์ตัวเครื่องให้บางเพียง 19.7 มม. และน้ำหนักน้อยกว่า 2.4 กิโลกรัมให้พกพาได้ง่าย สเปคดีพอเล่นเกมฟอร์มใหญ่ในปัจจุบันได้ทุกเกมแน่นอนบนจอความละเอียด 1080p, 1440p ก็ปรับกราฟิคระดับสูงเล่นได้อย่างไหลลื่นแน่นอน โดยสเปคขายจริงจะเป็นตามตารางด้านล่างนี้ แต่ในรีวิวฉบับนี้จะเป็นการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4050 แรม 6GB GDDR6 ค่า TGP 105 วัตต์ ซึ่งประสิทธิภาพเชื่อว่าดีไม่แพ้กันอย่างแน่นอน

สเปคของ Lenovo Legion Slim 5i

CPU Intel Core i7-13700H แบบ 14 คอร์ 20 เธรด (6P+8E) ความเร็วสูงสุด 5.0GHz
GPU NVIDIA GeForce RTX 4060 แรม 8GB GDDR6 ค่า TGP 125 วัตต์
รองรับ Advanced Optimus, DLSS 3, Resizable BAR, Dynamic
Boost 2.0, VR ready, DirectX 12 Ultimate
SSD M.2 NVMe อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ความจุ 512GB
อัพเกรดได้มากสุดช่องละ 1TB
RAM 16GB DDR5 บัส 5200MHz อัพเกรดได้สูงสุด 32GB
Display 16 นิ้ว ความละเอียด WQXGA (2560×1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz
ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ NVIDIA G-SYNC, TUV Low Blue Light ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 400
Connectivity USB-C 3.2 Full Function x 1, USB-C 3.2 DisplayPort x 1, USB-A 3.2 x 2, HDMI 2.1 x 1, LAN x 1, SD Card Reader x 1, Audio combo x 1

Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax, Bluetooth 5.1

Software Windows 11 Home
Weight น้อยกว่า 2.4 กิโลกรัม
Price 58,990 บาท (Advice)

Hardware & Design

DSC00108

ดีไซน์ตัวเครื่องของ Lenovo Legion Slim 5i ยังคงใช้บอดี้คล้ายกับ Lenovo Legion รุ่นก่อน แต่ปรับให้บอดี้บางส่วนแตกต่างจากรุ่นก่อน ไม่ว่าจะขาบานพับหน้าจอแบบใช้สันขอบเหนือตัวเครื่องแนวยาวยึดขาบานพับไว้ปลายทั้งสองด้านและเว้นระหว่างขอบล่างบานพับกับสันขอบเล็กน้อยให้กางหน้าจอได้ราบถึง 180 องศา และถัดลงมาส่วนขอบตัวเครื่องแนวเดียวกับปุ่ม Power จะเป็นช่องลมเข้าไปใช้กับชุดระบายความร้อน Legion Coldfront 5.0 ส่วนที่วางแขนจะมีสติ๊กเกอร์ติดเอาไว้ฝั่งขวามือเพียงฝั่งเดียวจำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ สติ๊กเกอร์ Intel, NVIDIA, Lenovo eSupport และปุ่มคีย์ลัด Fn+Q ไว้เปลี่ยนโหมดตัวเครื่อง

ปุ่ม Power ของ Lenovo Legion Slim 5i เป็นปุ่มธรรมดาพร้อมไฟ LED หนึ่งดวงตรงกลางปุ่ม ทรงจะเว้ากลางลงไปเล็กน้อยให้กดได้ง่าย มีไฟแสดงสถานะตัวเครื่องโดยปกติจะเป็นสีฟ้า ถ้าแบตเตอรี่ลดลงแล้วชาร์จอยู่จะกลายเป็นไฟสีแดง แต่เสียดายว่าปุ่มนี้ยังเป็นปุ่มธรรมดาไม่ใช่เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเหมือน Legion Slim 7 หากในรุ่นถัดไปติดตั้งมาให้ก็จะดีมาก

DSC00115

ขอบล่างหน้าจอของ Lenovo Legion Slim 5i ถูกเว้นขอบล่างขึ้นมาเล็กน้อยทำให้กางหน้าจอได้แบนราบ 180 องศา ขนานไปกับตัวเครื่องได้อย่างสมบูรณ์โดยบานหลังหน้าจอได้แนบกับบอดี้ท้ายเครื่องพอดีไม่มีช่องว่างเหลือ ใช้แชร์หน้าจอให้เพื่อนร่วมงานดูได้โดยสะดวกแถมปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับสายตาได้ง่าย ไม่ว่าจะวางบนพื้นโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ไม่มีปัญหา

DSC00045

บานหลังหน้าจอจะดีไซน์เรียบง่ายไม่เล่นลวดลายอะไร ติดเพียงโลโก้ Legion เอาไว้มุมบนซ้ายและป้ายแบรนด์ Lenovo มุมล่างขวาเท่านั้น เหมาะกับคนชอบความเรียบง่ายมากและส่วนขอบบนตรงกลางจอมีก้านยื่นสำหรับกางบานหน้าจอได้โดยสะดวก ใช้มือเพียงข้างเดียวก็กางเปิดหน้าจอใช้งานได้ทันที

ถัดลงมาขอบล่างหน้าจอเล็กน้อยจะเห็นว่า Lenovo Legion Slim 5i มีช่องระบายความร้อนคู่หลังเครื่องขนาบข้างพอร์ตด้านหลังตัวเครื่องอยู่ด้วยสังเกตจะเห็นว่าเป็นพอร์ตต่อใช้งานแบบเสียบทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้ถอดเข้าออกบ่อยๆ

DSC00015

ด้านใต้ตัวเครื่องจะมีแถบยาง 3 เส้น แบ่งเป็นแบบแถบยาวขอบบนเครื่องพร้อมสลักคำว่า Legion เอาไว้ตรงกลางและคู่ล่างข้างลำโพง ช่วยยกบอดี้ตัวเครื่องขึ้นและกันโน๊ตบุ๊คลื่นเวลาวางใช้งาน เว้นช่องนำลมเข้าเอาไว้ส่วนขอบบนประมาณ 40% ของพื้นที่ใต้เครื่อง ส่วนรู Reset Hole สำหรับรีเซ็ตเครื่องกลับไปค่าตั้งต้นจากโรงงาน (Factory Reset) เผื่อเกิดเหตุสุดวิสัยใช้งานไม่ได้ต้อง Hard reset ก็เอาเข็มจิ้ม SIM แทงรูนี้ค้างเอาไว้ 10 วินาที จะสั่งรีเซ็ตเครื่องได้

Screen & Speaker

DSC00065

หน้าจอขนาด 16 นิ้ว มีความละเอียด WQXGA (2560×1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz มีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ NVIDIA G-SYNC, TUV Low Blue Light ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 400 แล้ว เคลมความสว่างหน้าจอเอาไว้สูงสุด 500 nits ดีไซน์ขอบหน้าจอบาง 3 ด้าน ทั้งขอบข้างเครื่องสองฝั่งและขอบบนด้วย แต่ตรงกลางขอบบนจะมีปลายยื่นขึ้นเล็กน้อยเพื่อติดตั้งกล้องเว็บแคมและไมโครโฟนเอาไว้ ขอบล่างหน้าจอมีโลโก้ Legion ติดเอาไว้ด้วย

สำหรับเครื่องรีวิวจะเป็นหน้าจอสเปครองลงมาจะมีฟีเจอร์เหมือนกันแทบทั้งหมด แต่จะรองรับการแสดงผลแบบ Dolby Vision แต่ไม่ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 400 และความสว่างสูงสุดเคลมไว้แค่ 300 nits มีข้อดีตรงการปรับค่า Refresh Rate หน้าจอได้หลายระดับตั้งแต่ 60, 82.5, 165Hz และแบบ Dynamic ซึ่งตัวเครื่องจะสลับค่า Refresh Rate โดยอัตโนมัติระหว่าง 83 หรือ 165Hz ให้โดยอัตโนมัติตามคอนเทนต์บนหน้าจอ ซึ่งเครื่องขายจริงเชื่อว่าจะได้ประสิทธิภาพตามที่เคลมไว้แน่นอน

display

ขอบเขตสีหน้าจอเมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 ร่วมกับเครื่อง Colorchecker ของ Calibrite ได้ Gamut coverage หรือค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอได้สีกว้าง 99.2% sRGB, 70.1% Adobe RGB, 73.3% DCI-P3 ส่วน Gamut volume หรือขอบเขตสีองค์รวมได้ 103.7% sRGB, 71.5% Adobe RGB, 73.5% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ย 0.14~1.0 ซึ่งขอบเขตสีหน้าจอกว้างตามที่เคลมเอาไว้ไม่พอ ยังเที่ยงตรงระดับใช้ทำงานอาร์ตเวิร์คหรือแต่งภาพถ่ายจากกล้องบนหน้าจอได้เลย ถือว่าพาเนล IPS จากบริษัท BOE มีคุณภาพสูงใช้ได้

ความสว่างหน้าจอ Legion Slim 5i ตามหน้าสเปคเคลมความสว่างไว้ 300 nits เมื่อทดสอบแล้วได้ความสว่างสูงถึง 340.08 cd/m2 ซึ่งสว่างกว่าในหน้าสเปคและตอนใช้งานจริงเวลาพกไปใช้งานนอกอาคารตามร้านกาแฟก็ปรับความสว่างสูงสุดสู้แสงแดดได้แน่นอน แต่ตอนใช้งานในอาคารออฟฟิศแนะนำปรับไว้แค่ 60~70% ก็สว่างพอใช้แล้ว

ลำโพงของ Lenovo Legion Slim 5i เป็นลำโพงคู่กำลังขับดอกละ 2 วัตต์ ปรับจูนเสียงโดย Nahimic Audio เมื่อปรับเสียงดังสุดแล้ววัดเสียงจะดังราว 75dB เนื้อเสียงจะเน้นทางเสียงเครื่องดนตรีและนักร้องเป็นหลักและมีเบสซัพพอร์ตเสียงโดยรวมระดับหนึ่งแต่แรงปะทะจะน้อยไม่หนักหน่วงมาก ใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนวตั้งแต่แจ๊ส, ป็อป, คลาสสิคก็ดี แนว R&B กับร็อคถือว่าฟังได้อรรถรสระดับหนึ่งแต่แนวเมทัลหรือฮิปฮอปแนะนำให้ต่อลำโพงแยกแบบมี Subwoofer เสริมเลยจะดีกว่า

Keyboard & Touchpad

DSC00085

คีย์บอร์ด Legion TrueStrike ของ Lenovo Legion Slim 5i ยังใช้เลย์เอ้าท์แบบเดิมเหมือนกับ Legion รุ่นอื่น เป็น Full size มี 100% Anti-Ghosting เหมือนเดิมแต่อัพเกรดระบบไฟคีย์บอร์ดโดยเพิ่มโหมดไฟเข้าไปจาก 2 เป็น 3 แบบ คือ ปิดไฟ, ไฟสีฟ้า, 4-Zone RGB แล้วเอฟเฟคไฟจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดูสวยมีลูกเล่นไม่แพ้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในระดับราคาไล่เลี่ยกันอย่างแน่นอน สามารถกด Fn+Spacebar เพื่อเปลี่ยนเอฟเฟคไฟ RGB ได้ตามต้องการ

คีย์ลัดเปลี่ยนโหมดของ Lenovo Legion Slim 5i จะใช้วิธีกด Fn+Q เพื่อสลับทั้ง 3 โหมดไปมา โดยมีโหมด Auto ให้ตัวเครื่องจัดการโดยอัตโนมัติ, Silent รูปหน้าคนยกนิ้วเป็นโหมดประหยัดพลังงาน และสุดท้าย Performance รูปหน้าปัดเอาไว้ใช้ประสิทธิภาพเครื่องสูงสุด แต่จะทำงานต่อเมื่อเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เท่านั้น ถ้าถอดปลั๊กจะทำงานเฉพาะโหมด Auto, Silent เท่านั้น

อย่างไรก็ตามรายละเอียดดีไซน์ของคีย์บอร์ดยังเป็นเหมือน Legion รุ่นอื่นๆ เป็นคีย์แคปแบบขอบล่างโค้งและมี Function Key เซ็ตเอาไว้ 6 คีย์ถัดจากปุ่ม F12 และมี Numpad ให้ใช้งาน ส่วนปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down จะมีปุ่ม Multimedia Key เอาไว้คุมเพลงหรือวิดีโอที่ดูอยู่ได้ มีครบทั้งเล่นและหยุดชั่วคราว, หยุดเพลง, เลื่อนไปเพลงก่อนหน้าและถัดไปและมี Snipping Tool ติดเอาไว้กับปุ่ม Print Screen ให้ใช้งานได้ด้วย และปุ่มลูกศรจะเป็นชุดปุ่มแยกลงมาจากชุดคีย์บอร์ดหลักให้กดใช้งานได้ง่ายๆ

DSC00097

ปุ่ม Function Hotkey ของ Lenovo Legion Slim 5i เรียกว่ายกจาก Legion รุ่นอื่นๆ มาใช้เลยไม่มีการ Mapping ปุ่มใหม่ๆ เสริมเข้าไปหรือถอดออกมาเลย เวลาใช้งานจะต้องกด Fn ค้างก่อนถุงกดใช้คีย์ลัดได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียง
  • F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
  • F5~F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
  • F8 – Airplane Mode
  • F9 – Lenovo Smart Key ใช้เรียกคำสั่งและโปรแกรมที่ตั้งค่าไว้ได้ กด 2 ครั้งเปิด Lenovo Vantage
  • F10 – ล็อคแป้นทัชแพด
  • F11 – ปุ่มลัดเรียก Windows Aero Mode ทำงานเหมือนกด Windows+Tab
  • F12 – เรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข

ซึ่งคีย์ลัดทั้งหมดนี้ถือว่าครบพอใช้งานได้เช่นเดียวกับ Legion รุ่นก่อนก็จริง แต่รูปแบบคีย์ลัดยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้จะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม แต่อยากให้ทางบริษัทเพิ่มปุ่มลัดอื่นๆ เข้ามาอีกสักหน่อย เช่น ปุ่มปรับค่า Refresh Rate ของหน้าจอหรือทำให้เซ็ตปุ่มมาโครเพิ่มได้อีกสัก 3-4 ปุ่ม จะยิ่งน่าใช้กว่าเดิม

แป้นทัชแพดของ Lenovo Legion Slim 5i มีขนาดค่อนข้างใหญ่และเซ็ตแป้นให้เยื้องมาทางซ้ายแล้วขอบแป้นทัชแพดจะอยู่ใต้สันมือซ้ายพอดี ใช้ Gesture control ของ Windows ได้โดยไม่มีปัญหา ตอนใช้งานไม่ค่อยมีอาการทัชแพดลั่นนัก แต่ถ้าไม่มั่นใจก็กด Fn+F10 ล็อคไม่ให้ทำงานก็ได้

Connector / Thin & Weight

DSC00051

พอร์ตเชื่อมต่อของ Lenovo Legion Slim 5i จะเซ็ตเอาไว้ทั้งหมดสามด้านของตัวเครื่องโดยเอาพอร์ตแบบต่อค้างไว้ยาวๆ ติดไว้หลังเครื่องเป็นหลัก ซึ่งทั้งสามด้านมีรายละเอียดดังนี้

  • ด้านหลังจากซ้ายมือ – USB 3.2 x 2, LAN, HDMI 2.1, ช่องต่ออแดปเตอร์
  • ด้านซ้ายจากซ้ายมือ – USB-C 3.2 DisplayPort, USB-C 3.2 Full Function, Audio combo
  • ด้านขวาจากซ้ายมือ – SD Card Reader และสวิตช์สไลด์สำหรับปิดเปิดเว็บแคม
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1

จะเห็นว่า Legion Slim 5i จะโดนตัดพอร์ต USB-A 3.2 ออกไปช่องหนึ่งซึ่งรุ่นก่อนๆ จะมีขั้นต่ำอยู่ 3 ช่องขึ้นไป แต่เพิ่ม SD Card Reader เข้ามาให้ใช้แทน ซึ่งพอร์ต USB-A ทั้งคู่น่าจะโดนเมาส์และคีย์บอร์ดจองไปโดยปริยาย ดังนั้นถ้าจะต่อ External Harddisk หรือ Flashdrive โอนไฟล์เข้าออกเครื่องแนะนำให้ซื้อตัวแปลง USB-C เป็น USB-A มาเตรียมเอาไว้สักอันหรือจะเอา USB-C Multiport adapter มาต่อใช้เลยก็ดี

DSC00009

น้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้วหนัก 2.2 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งหน้าสเปคเคลมเอาไว้ที่ต่ำกว่า 2.4 กิโลกรัม พอรวมอแดปเตอร์น้ำหนัก 522 กรัมเข้าไปแล้วมีน้ำหนักรวม 2.72 กิโลกรัม จัดว่าหนักไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน เวลาจะพกเครื่องไปไหนมาไหนแนะนำให้ใส่กระเป๋าเป้ติดตัวไปจะดีสุดแล้วไม่เกิดปัญหา Office syndrome ตามมาในภายหลัง

Inside&Upgrade

DSC00023

วิธีการเปิดฝาอัพเกรด Lenovo Legion Slim 5i ให้เอาไขควงหัวแฉก Philips Head ขันน็อตทั้ง 10 ตัวออก แล้วเอาปิ๊กกีตาร์หรือการ์ดแข็งไล่ตามขอบตัวเครื่องก็เปิดฝาออกมาได้ทันที แนะนำให้ไล่จากขอบล่างของตัวเครื่องฝั่งลำโพงก่อนจะแกะเปิดฝาได้ง่ายกว่า แนะนำให้ระวังบริเวณพอร์ตด้านหลังเครื่องสักนิดเพราะเป็นฝาแบบมีลิ้นยื่นเข้าไปด้านใน ถ้าฝืนแกะอาจเสียหายได้

บนเมนบอร์ดของ Legion Slim 5i จะมีช่องอัพเกรดเติม M.2 NVMe SSD ทั้งหมด 2 ช่อง โดยฝั่งซ้ายจะปล่อยว่างเอาไว้ให้ผู้ใช้ใส่ SSD เพิ่ม อินเตอร์เฟสเป็น PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่ รองรับความจุช่องละ 1TB ไม่ได้เป็น PCIe 4.0 x4 กับ 3.0 x4 อย่างละช่อง ดังนั้นจึงเอา SSD ความเร็วสูงรุ่นใหม่ๆ มาใส่ใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น WD Black SN770, SN850, Solidigm P44 Pro เป็นต้น

แรมตั้งต้นจากโรงงานได้ความจุ 16GB DDR5 บัส 5200MHz รองรับความจุได้มากสุด 32GB ซึ่งถ้าใครเป็นครีเอเตอร์ก็อัพเกรดเพิ่มทันทีเลยก็ได้ ถ้าเป็นเกมเมอร์ก็ใช้ความจุเดิมจากโรงงานเลยก็ได้ หากมีแผนอยากอัพเกรดตั้งแต่ได้เครื่องมาใช้อาจใส่ SSD 1TB เสริมกับ 512GB ตัวหลักหรือใส่เป็น 1+1TB ก็ได้ ส่วน RAM ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน

Performance & Software

cpu

Lenovo Legion Slim 5i ได้รับการอัพเกรดซีพียูให้เป็นรุ่นล่าสุด โดยติดตั้ง Intel Core i7-13700H แบบ 14 คอร์ 20 เธรด (6P+8E) ความเร็วสูงสุด 5.0GHz มาให้ สถาปัตยกรรม Raptor Lake ทรานซิสเตอร์ขนาด 10nm ค่า TDP สูงสุด 45 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งใช้งานครบถ้วนและมี L3 Cache ในตัว 24MB ซึ่งซีพียูตัวนี้สามารถใช้ทำงานกราฟิคหรือเล่นเกมได้เป็นอย่างดี

แรมติดตั้งมาให้ 16GB DDR5 บัส 5600MHz รองรับความจุสูงสุด 32GB DDR5 ถ้าต้องการอัพเกรดแนะนำให้เลือกบัสแรม 4800 / 5200 / 5600MHz ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าซื้อมาเล่นเกมก็ยังไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ แต่ถ้าใช้ทำงานกราฟิคตัดต่อวิดีโอด้วยก็เพิ่มไป 32GB ตั้งแต่เริ่มแรกเลยก็ดี

gpu z

การ์ดจอในเครื่องรีวิวเป็น NVIDIA GeForce RTX 4050 แรม 6GB GDDR6 ค่า TGP 105 วัตต์ ชิปรหัส AD107 สถาปัตยกรรม ADA Lovelace มีคอร์ CUDA มากถึง 2,560 Unified หากเทียบกับ GeForce RTX 3050 ที่มีเพียง 2048 Unified แล้วได้คอร์เพิ่มขึ้นมา 512 Unified รองรับ Advanced Optimus, DLSS 3, Resizable BAR, Dynamic Boost 2.0, VR ready, DirectX 12 Ultimate และชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX ดังนั้นการ์ดจอตัวนี้จึงพร้อมใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดีแน่นอน

ส่วนเครื่องวางจำหน่ายจริงจะติดตั้งการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4060 แรม 8GB GDDR6 ค่า TGP 125 วัตต์มาให้แทน ดังนั้นเฟรมเรทตอนเล่นเกมและปั้นโมเดล 3D จะดีกว่านี้แน่นอน

devicemgr

เมื่อเช็คชิ้นส่วนภายในผ่าน Device Manager จะเห็นว่า Lenovo Legion Slim 5i มีชิป TPM 2.0 ไว้รักษาความปลอดภัยร่วมกับ Windows 11 ติดตั้ง M.2 Wi-Fi รุ่น Intel AX211 มาให้ เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax แบนด์วิธกว้าง 160MHz เชื่อมต่อคลื่น 2.4 / 5 / 6GHz ได้ มีเทคโนโลยี OFDMA, MU-MIMO, Intel vPro รองรับ Bluetooth 5.1 ถ้ามีการอัพเดทเฟิร์มแวร์ในอนาคตสามารถใช้งาน Bluetooth 5.3 ได้ด้วย

ssd

M.2 NVMe SSD จากโรงงานผลิตโดย SK hynix รหัส HFS512GEJ9X115N มีความจุ 512GB อินเตอร์เฟสเป็น PCIe 4.0 x4 พอทดสอบความเร็วเขียนอ่านไฟล์ด้วย CrystalDiskMark 8 แล้วได้มีความเร็วดังนี้

ประเภทการทดสอบ Sequential Read
(MB/s)
Sequential Write
(MB/s)
SEQ1M Q8T1
ทดสอบความเร็ว
เขียนอ่านไฟล์เดียว
แบบ 1MB, 1 Task, 1 Thread
7,091.28 5,030.88
RND4K
ทดสอบความเร็ว
เขียนอ่านไฟล์แบบสุ่ม
627.65 522.33

ซึ่งความเร็วของ M.2 NVMe จาก SK hynix ถือว่าทำงานได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วจนไม่ต้องอัพเกรดตัวหลักก็ได้ แค่หาซื้อ SSD มาใส่เสริมก็พอแล้ว และเมื่อ M.2 NVMe ทั้งสองช่องเป็น PCIe 4.0 x4 ทั้งคู่ก็ จะซื้อ WD Black SN770, WD Black SN850, Solidigm P44 Pro ความจุ 1TB มาใส่เพิ่มก็พอ

3d

งานหลักของ Lenovo Legion Slim 5i อย่างการเล่นเกม พอทดสอบด้วย 3DMark Time Spy ได้คะแนนรวมเฉลี่ย 8,897 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงพอเล่นเกมฟอร์มใหญ่บนจอความละเอียด 1080p ได้สบายๆ ถ้าแยกกันจะได้คะแนน CPU score 11,119 คะแนน และ Graphics score 8,594 คะแนน ถือว่าทำผลงานดีกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน หากนำมาเทียบกันจะเป็นดังนี้

การ์ดจอ GeForce RTX 4050 GeForce RTX 3050 GeForce RTX 3060
คะแนน 8,594 4,191 7,726
ความแตกต่าง 4,403 868
CUDA 2,560 Unified 2,048 Unified 3,840 Unified

จากตารางก็สรุปได้ว่าตัว NVIDIA GeForce RTX 4050 ถึงจะเป็นรุ่นเริ่มต้นของ GeForce RTX 4000 Series ก็จริง แต่พอเอาไปเทียบกับ GeForce RTX 3000 Series ต้องถือว่าทำคะแนนได้ดีกว่า RTX 3060 ด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าเอาไปเล่นเกมก็ไม่มีปัญหาแถมทำเฟรมเรทได้สูงน่าประทับใจอย่างแน่นอน

gametest qhd no rt

ประสบการณ์เล่นเกมด้วย Legion Slim 5i จัดว่าดีน่าประทับใจมาก โดยกราฟแรกทดลองเล่นเกมบนจอความละเอียด WQXGA ดั้งเดิมของหน้าจอและเปิดกราฟิคสูงสุดโดยไม่เปิด NVIDIA DLSS 3 ก็ยังเล่นเกมต่างๆ ได้เฟรมเรทเฉลี่ยช่วง 42 เฟรมขึ้นไป แถมภาพยังไหลลื่นมากแทบจะตลอดเวลา แต่ถ้าเกมไหนมีรายละเอียดในฉากเยอะ เช่น Resident Evil 4 Remake บางช่วงเฟรมเรทอาจจะหน่วงและตกลงบ้างราว 1-2 วินาที แล้วภาพก็กลับมาลื่นไหลตามปกติ แต่กรณีของ The Witcher 3 บางช่วงบางตอนจะมีอาการเฟรมเรทหน่วงกะทันหันบ้างซึ่งคาดว่ามาจากเอนจิ้นของตัวเกม

Screenshot 2023 07 14 144919

ส่วนเฟรมเรทเวลาทดลองปิดและเปิด NVIDIA DLSS เพื่อเร่งเฟรมเรทตอนเล่นเกมให้มากขึ้นจะเห็นว่าทั้ง 2 เกมที่เลือกมาเปรียบเทียบทั้งสองเกม ตัว GeForce RTX 4050 สามารถเปิดใช้งานได้และเร่งเฟรมเรทให้ภาพลื่นไหลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกมที่ Optimized มาแล้วอย่างเช่น Cyberpunk 2077 จะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ถึงจะเป็นการ์ดจอ GeForce RTX รุ่นเริ่มต้นแต่ก็มีประสิทธิภาพดีกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจน

gametest fhd no rt

พอปรับกราฟิคลดลงมาเป็น 1080p และไม่เปิด NVIDIA DLSS 3 เสริม ถือว่า NVIDIA GeForce RTX 4050 สามารถทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้ดีขึ้นอย่างมากจนเกาะกลุ่มอยู่ในช่วง 55~70 เฟรมขึ้นไป และไม่มีอาการเฟรมหน่วงเวลาเล่น Resident Evil 4 Remake เลย สังเกตว่าเฟรมเรทต่ำสุดรั้งอยู่ 59 เฟรม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจ

สรุปคือ NVIDIA GeForce RTX 4050 นั้นเหมาะกับการเล่นเกมแบบปรับกราฟิคสูงสุดหมดบนจอ 1080p ส่วนจอ WQXGA หรือ QHD ก็เล่นได้ดีไม่แพ้กัน อาจจะเปิด DLSS 3 เสริมหรือปรับกราฟิคในเกมระดับกลาง~สูง ช่วยสักหน่อยก็เล่นได้ทุกเกม ถ้าเป็นสเปคขายจริงซึ่งได้ NVIDIA GeForce RTX 4060 มา เชื่อว่าสามารถเล่นเกมบนจอ WQXGA หรือ QHD ปรับกราฟิคสูงสุดได้สบายๆ แน่นอน

หากใครเป็นครีเอเตอร์ ทำงานกราฟิคและปั้นโมเดล 3D จะซื้อ Lenovo Legion Slim 5i ไปใช้งานก็ดีมากไม่แพ้กัน เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH แล้ว จะได้คะแนนดังนี้

  • R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 16,538 pts และ Single Core อีก 1,816 pts
  • R20 ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 7,049 pts
  • R15 ใช้ทดสอบการเรนเดอร์งานและโมเดล 3D ว่าซีพียูและกราฟิคการ์ดทำได้ลื่นไหลหรือไม่ คะแนน OpenGL 210.92 fps และ CPU 3,091 cb

จากผลคะแนนทดสอบทั้ง 3 โปรแกรม ถือว่า Legion Slim 5i ทรงพลังมากพอใช้ทำงานครีเอเตอร์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะตัดต่อแต่งภาพ ทำวิดีโอหรือเรนเดอร์โมเดล 3D ก็ทำได้สบายๆ ไม่มีปัญหาแถมยังเรนเดอร์และพรีวิวโมเดลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

pcmark10

ผลการทดสอบด้วยโปรแกรมจำลองการทำงานด้วย PCMark 10 ได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึง 7,997 คะแนน ได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบบใช้ทำงานครีเอเตอร์ได้ แถมแต่ละหมวดการทดสอบยังทำคะแนนได้เกินหมื่นทั้งหมด โดยเฉพาะ Digital Content Creation ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มด้วย โดยเฉพาะการตัดต่อแต่งภาพและเรนเดอร์โมเดล 3D จะทำงานได้ดีเป็นพิเศษ ส่วนงานตัดต่อวิดีโอก็ดีไม่แพ้กัน ดังนั้นถ้าฝ่ายศิลป์และครีเอเตอร์คนไหนมองหาโน๊ตบุ๊คใหม่อยู่ อยากแนะนำให้ใส่ชื่อ Lenovo Legion Slim 5i เอาไว้ในลิสท์รุ่นน่าซื้อด้วย

Screenshot 2023 07 08 084121

ด้านโปรแกรม Lenovo Vantage เวอร์ชั่นเพื่อ Legion Series จะยังคงหน้าตาเรียบง่ายใช้งานสะดวก มีโหมดมอนิเตอร์สถานะตัวเครื่องทั้ง CPU, GPU, RAM และความจุใน SSD ที่ใช้งานไปอยู่ครบถ้วน หากจะตั้งค่าหรือโอเวอร์คล็อกตัวเครื่องเพิ่มเล็กน้อยก็ทำในนี้ได้ รวมถึงอัพเดทเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ได้ด้วย

Battery & Heat & Noise

DSC00026

แบตเตอรี่ภายใน Lenovo Legion Slim 5i เป็นแบบลิเธียมไอออน (Li-ion) มีความจุ Typical Capacity ถึง 80Wh (5,182mAh) ส่วน Rated Capacity วัดได้ 78Wh (5,052mAh) ถือว่ามีความจุมากเป็นระดับต้นๆ ในบรรดาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันนี้ ซึ่งยืนพื้นกันช่วง 70~80Wh กันแล้ว

battmon

เมื่อทดสอบระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่โดยปรับความสว่างหน้าจอ 50% และลดเสียงลำโพงเหลือ 10% ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดและปรับโหมดตัวเครื่องเป็น Silent ใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาที พบว่า Lenovo Legion Slim 5i ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดจนแบตเตอรี่หมดได้ 3 ชั่วโมง 34 นาทีเท่านั้น ถือว่าใช้งานได้ไม่นานนักแม้จะมีแบตเตอรี่ในเครื่อง 80Wh ก็ตาม ซึ่งปกติผู้เขียนคาดหวังว่าจะใช้งานได้ราว 5-7 ชั่วโมง

ซึ่งสาเหตุที่แบตเตอรี่ใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร อาจจะมาจาก BIOS ของตัวเครื่องอาจจะจัดการพลังงานได้ไม่ดีนัก ซึ่งปัญหานี้คาดว่าต้องรอทาง Lenovo ส่งแพทช์มาให้อัพเดทในอนาคต ซึ่งต้องใช้โปรแกรม Lenovo Vantage ช่วยอัพเดทเพิ่มเติม

DSC00027

ระบบระบายความร้อน Legion Coldfront 5.0 เป็นชุดฮีตไปป์ 3 เส้นใหญ่ แยกเป็นคู่บนพาดข้ามระหว่างซีพียู Intel และการ์ดจอ NVIDIA และเสริมด้วยฮีตไปป์เส้นเล็กรองด้านใต้พาดลงตรงชิปสำคัญภายในเครื่องเสริมอีกเส้นแล้วตรงออกฮีตซิ้งค์แล้วระบายออกด้วยพัดลมโบลวเวอร์คู่ออกด้านหลังและข้างเครื่องอย่างละ 2 ช่อง มีทางลมเข้าด้านใต้เครื่องเป็นช่องใหญ่และมีช่องเล็กเหนือชุดคีย์บอร์ดเสริมด้วย

หลังจากใช้เวอร์ชั่น 4.0 มาหลายรุ่น ชุดระบายความร้อนของ Lenovo Legion Slim 5i ก็ถูกอัพเกรดเป็น Legion Coldfront 5.0 แล้ว สามารถระบายความร้อนได้ดีไม่เกิดอาการ Throttle down เฟรมเรทตกระหว่างเล่นเกมเลย โดยอุณหภูมิระหว่างใช้งานตามปกติกับเล่นเกมจะเป็นดังนี้

อุณหภูมิ ใช้งานปกติ
(เซลเซียส)
เปิดโปรแกรมทดสอบ
(เซลเซียส)
ซีพียู 51~81 43~100
การ์ดจอ 46~50 32~78
SSD 54~55 35~76

ถึงอุณหภูมิสูงสุดจากโปรแกรม CPUID HWMonitor จะดูสูงจนบางคนกังวลใจก็ตาม แต่ในสถานการณ์จริงอุณหภูมิจะเร่งขึ้นไปช่วง 100 องศาในเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 วินาที แล้วเครื่องก็เร่งรอบพัดลมให้สูงขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วให้อุณหภูมิกลับไปอยู่ช่วง 91~95 องศาเซลเซียสเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะร้อนเกินไปจนเกิดความเสียหายก็ได้ และในสถานการณ์จริงพอเปิดเกมเล่นแล้วตัว Lenovo Legion Slim 5i ก็จัดการอุณหภูมิได้ดี วางมือบนแป้นคีย์บอร์ดเล่นเกมได้และความร้อนไม่แผ่ขึ้นมือเลยแม้แต่น้อย อย่างมากแค่รู้สึกว่ามืออุ่นจากอุณหภูมิภายในเท่านั้น

User Experience

DSC00112

พอได้เอา Lenovo Legion Slim 5i ไปทดลองใช้งานก็นับว่ามันยังคงเอกลักษณ์ของ Legion Series ไว้ได้ครบถ้วนไม่ว่าจะดีไซน์เหมือนรุ่นก่อนหน้าและมีไฟ LED Backlit แต่เสริม 4-Zone RGB มาให้ สีสันดูสวยงามและบอดี้ไม่หนามากจนเบียดข้าวของชิ้นอื่นในกระเป๋าเป้ ยังใส่แท็บเล็ต, อแดปเตอร์, แบตสำรอง ฯลฯ ไปไหนมาไหนพร้อมกันได้สบายๆ แต่น้ำหนักพอรวมกับของชิ้นอื่นจะค่อนข้างหนัก ควรใช้กระเป๋าเป้แบบมีซับบ่าหนาสักหน่อยจะช่วยให้ไม่เจ็บบ่ามาก

พอพกไปธุระทั้งตอนไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟหรือไปประชุมงานกับลูกค้ายังไงก็ควรเอาอแดปเตอร์ใส่กระเป๋าไปเสมอเพราะแบตเตอรี่ใช้งานได้ราว 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ยิ่งตอนใช้งานจริงบางโอกาสตอนรันโปรแกรมใหญ่ๆ ก็กินพลังงานเยอะอาจจะไม่ข้ามไปหลัก 3 ชั่วโมงด้วยซ้ำ หากพกไปเรียนหรือจดประชุมยังพอใช้งานได้ต่อเนื่องจนจบช่วงได้อยู่ แต่ถ้าไปนั่งร้านกาแฟยาวทั้งวันแนะนำให้หาโต๊ะใกล้ปลั๊กไฟรอเอาไว้ได้เลย แต่ถ้าใครไม่อยากพกอแดปเตอร์ของมันตลอดล่ะก็ ให้หาอแดปเตอร์แบบ GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์พร้อมสาย USB-C แบบรับกำลังไฟสูงได้เอามาชาร์จผ่านพอร์ต USB-C PD แทนก็ได้

ส่วนของพอร์ตนับว่า Lenovo Legion Slim 5i ให้มาครบเครื่องและจัดกลุ่มพอร์ตเอาไว้ตามโซนต่างๆ ได้เหมาะสมมาก โดยเน้นเอาพอร์ตแบบต่อใช้งานยาวๆ ไปไว้ด้านหลังหมดทั้งอแดปเตอร์, HDMI, LAN กับ USB-A ทั้งสองหัว เวลาเอาเครื่องไปวางใช้งานบนโต๊ะก็จัดกลุ่มสายไฟได้ง่ายไม่เกะกะเกินไป แถมยังมีช่อง SD Card Reader ใส่มาเป็นพิเศษ ซึ่ง Legion หลายๆ รุ่นแม้แต่ Legion Pro 7i ก็ไม่มีให้ ถ้าใครถ่ายงานโอนภาพและคลิปออกจาก SD Card ก็ต่อตรงโอนไฟล์ได้ และจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของ Legion Slim 5i ยังมีอยู่เหมือนเดิม คือ USB-C ทั้งสองช่องต่อจอแยกแบบ DisplayPort ได้ จึงต่อจอ USB-C ได้ด้วยสายเส้นเดียวหรือจะต่อพร้อมกันทุกช่องรวมกับ HDMI ด้วย ก็ได้มากสุดรวม 4 จอ

อย่างไรก็ตาม ทาง Lenovo เลือกตัดพอร์ต USB-A 3.2 ออกไปช่องหนึ่งแลกกับ SD Card Reader ซึ่งถ้าใครใช้อุปกรณ์ USB-C อยู่แล้วก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรนัก แต่ถ้ามีอุปกรณ์แบบ USB-A อยู่ แนะนำให้หาซื้อ USB Hub เตรียมเอาไว้สักชิ้นเผื่อต่ออุปกรณ์อื่นสักหน่อยจะได้ใช้งานสะดวกขึ้น

สุดท้าย หวังว่าทาง Lenovo จะใส่เซนเซอร์สแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือเสริมเข้ามาในรุ่นถัดไปจะดีมาก เพราะในยุคนี้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะพิมพ์รหัสผ่านได้ก็จริง แต่ถ้าเทียบกับแบรนด์คู่แข่งจะเห็นว่าต่างพากันใส่เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้ามาให้ในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์เรือธงกันหลายรุ่นแล้ว หวังว่าทางบริษัทจะใส่ฟีเจอร์นี้มาให้ในรุ่นถัดไปจะดีมาก

Conclusion & Award

DSC00117

Lenovo Legion Slim 5i นี้ ยังคงเอกลักษณ์ความแรงคุ้มราคาจะซื้อเอาไว้ทำงานหรือเล่นเกมก็ดี ซึ่งซีพียูและการ์ดจอของ Intel, NVIDIA รุ่นล่าสุดนี้เรียกว่าเป็น Desktop Replacement ย่อมๆ ก็ว่าได้ แถมตอนพกพาก็ง่ายไม่กินพื้นที่ในกระเป๋า ไม่บวมเกินไปจนใส่แท็บเล็ตหรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ไม่ได้ ดังนั้นจะครีเอเตอร์หรือเกมเมอร์สายพกพาหาโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่เอาไว้ใช้ก็ถือว่าดีน่าใช้จริง

Award

NBS award for Creator

Best For Creator

จอของ Legion Slim 5i แสดงผลขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB แถมเที่ยงตรง มีช่อง SD Card Reader เอาไว้ต่อโอนไฟล์จากกล้องมาทำต่อได้สะดวกและประสิทธิภาพเหลือร้าย ใช้ทำงานได้ดังใจแน่นอน

award new performance

Best Performance

จะงานเล็กงานใหญ่ งานตัดต่อ Intel 13th Gen และ NVIDIA GeForce RTX 4000 Series จัดว่าทรงพลังพอรับมือได้เป็นอย่างดี ครีเอเตอร์และคนทำงานซื้อไปไม่ผิดหวังแน่นอน

award new Gaming

Best Gaming

ถึงจะเป็น NVIDIA GeForce RTX 4050 แต่เฟรมเรทและผลคะแนนจากการทดสอบก็เอาชนะ RTX 3060 อดีตพิมพ์นิยมของเกมเมอร์ได้อย่างสวยงาม และเครื่องขายจริงก็เป็น RTX 4060 อีกด้วย ดังนั้นถ้าจะซื้อเอาไว้เล่นเกมพร้อม Livestream ไปพร้อมกันก็ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

Adblock test (Why?)


รีวิว Lenovo Legion Slim 5i แรงทรงพลัง น้ำหนักพอดี ถูกใจ - NBS
Read More

No comments:

Post a Comment

รีวิว Death Stranding Director's Cut เล่นบน iPad Pro M2 - iPhoneMod

ในที่สุดสาวก Apple อย่างเราก็ได้เล่นเกม Death Stranding เวอร์ชัน Director’s Cut บนอุปกรณ์ Apple กันแล้ว ใครอยากลองเล่นเข้าไปซื้อเกมใน App S...