Rechercher dans ce blog

Friday, July 21, 2023

REVIEW | รีวิว Nothing Phone (2) ไฟ Glyph Interface เก่งกว่าเดิม อ?... - Droidsans

หลังจากสร้างความแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับวงการสมาร์ทโฟนไปเมื่อปีที่แล้ว Nothing ก็ได้ส่งมือถือดีไซน์แหวกตลาดรุ่นภาคต่อมาสร้างความประทับใจให้กับคนที่ชอบความแตกต่างอีกครั้งกับ Nothing Phone (2) ซึ่งในรอบนี้ก็มาพร้อมกับสเปคที่ยกระดับความพรีเมียม แถมยังอัปเกรดไฟ Glyph Interface ให้แสดงผลได้ละเอียดกว่าเดิม และยังได้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพิ่มความเก่งขึ้นไปอีกขั้นด้วย

ดีไซน์เดิม แต่ลงตัวกว่าเดิม

หากดูด้วยตาเปล่าแล้วดีไซน์ของ Nothing Phone (2) อาจดูไม่เปลี่ยนจากรุ่นแรกสักเท่าไหร่ แต่หากดูใกล้ ๆ แล้วจะเห็นได้ชัดว่ากระจกฝาหลังได้เปลี่ยนจากกระจกแบนราบ เป็นกระจกใสแบบโค้งมนเล็กน้อย เสริมความมั่นคงในการจับถือ

ภายใต้กระจกเผยให้เห็นถึงดีไซน์การจัดวางอะไหล่ที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูประณีตกว่ารุ่นก่อน และสีที่เราได้มาคือสี Drak Grey ที่มีการปรับเฉดให้สว่างขึ้น ทำให้ขับแสงไฟ Glyph Interface ได้ลงตัวกว่าเดิม แถมในรุ่นนี้ยังมาพร้อมกับมาตรฐานทนละอองน้ำ IP54 ด้วย

เฟรมตัวเครื่องของ Phone (2) มาในดีไซน์แบบแบนราบ มาพร้อมผิวสัมผัสแบบด้าน ใช้วัสดุอะลูมิเนียมรีไซเคิลแบบ 100% ที่นอกจากจะเสริมความงามให้กับตัวเครื่องได้ดีแล้ว ยังมีความรักษ์โลกอีกด้วย ฝั่งด้านซ้ายของตัวเครื่องมีปุ่มเพิ่ม / ลดเสียง ส่วนด้านขวาเป็นปุ่ม Power อยู่ในตำแหน่งที่พอดีกับนิ้วมือ ด้านบนมาพร้อมกับรูไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างจะมาพร้อมช่องลำโพง และไมโครโฟนสนทนา มีพอร์ต USB-C และช่องใส่ SIM Card 

จอใหญ่ขึ้น รองรับ Adaptive Refresh Rate แล้ว

จอแสดงผลในรุ่นนี้ได้รับการอัปเกรดไปใช้พาเนล LTPO Flexible OLED รองรับ Refresh Rate แบบ Adaptive ปรับขึ้นลงอัตโนมัติตามการใช้งาน 1 – 120Hz ทำให้ประหยัดแบตเตอรี่ได้มากกว่าเดิม รองรับการสแกนนิ้วบนหน้าจอที่ทำงานได้ค่อนข้างเร็ว แถมยังได้จอที่สว่างเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1,600 nits ด้วย 

นอกจากนี้ในรุ่นใหม่นี้ยังได้ขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.7 นิ้ว มีการปรับเปลี่ยนรูกล้องหน้ามาอยู่ตรงกลาง แถมยังขอบจอยังบางกว่าเดิม โดยตัวจอจะมาในความละเอียด Full HD+ (2412 x 1080 พิกเซล) รองรับการแสดงผลแบบ HDR10+ สามารถดูคอนเทนต์ 4K@60FPS HDR บน YouTube ได้สบาย ๆ ส่วนระบบเสียงในรุ่นนี้มาพร้อมกับลำโพงคู่สเตอริโอแยกมิติชัดเจน เสียงดังใช้ได้เลยทีเดียว ส่วนคุณภาพเสียงอยู่ในระดับมาตรฐาน เสียงร้องชัด ย่านแหลมเด่น แต่เสียงเบสจะมาไม่ค่อยเยอะมาก

Glyph Interface แบบใหม่ มีอะไรใหม่?

สำหรับใครที่ประทับใจไฟ LED สุดเท่ในรุ่นก่อน Nothing Phone (2) จะทำให้คุณประทับใจกว่ายิ่งกว่าเดิม เพราะในรอบนี้ Nothing เค้าได้มีการปรับดีไซน์ไฟใหม่ด้วยการแบ่งช่องไฟสั้น ๆ หลายช่อง เพิ่มดวงไฟ LED ให้สามารถแสดงผลแอนิเมชั่นไฟต่าง ๆ ได้ละเอียดขึ้น

ส่วนฟีเจอร์การแสดงผลไฟ Glyph LED นั้น นอกจากจะแสดงผลการแจ้งเตือน แสดงผลการชาร์จ หรือแสดงผลแอนิเมชั่นตามริงโทนได้แล้ว ยังได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง และมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง 4 ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามามีดังนี้

Notification เปิดไฟค้างไว้ หากมีการแจ้งเตือนจากแอปที่สำคัญ

หากเรามีแอปไหนที่มักจะส่งมีการส่งแจ้งเตือนสำคัญ ๆ เข้ามา เช่นพ่อค้าแม่ค้าคนไหนที่ขายของแล้วต้องตอบแชทลูกค้าตลอดเวลา เราสามารถเข้าไปตั้งค่าให้ไฟ Glyph LED ดวงบนสุดเปิดค้างไว้ จนกว่าเราจะเปิดเข้าไปดู เพื่อไม่ให้พลาดการแจ้งเตือนสำคัญ ๆ นั่นเอง

แสดงผลเวลาเร่งเสียง / ลดเสียง

เมื่อเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ หากกดปุ่มเพิ่ม / ลดเสียง ไฟ Glyph Interface หลอดแรกของตำแหน่งคอยล์ชาร์จไร้สาย จะแสดงผลเป็นเกจพลัง เพิ่มลดตามที่เราปรับ Volume เสียง 

นาฬิกาจับเวลา

ฟีเจอร์นี้จะสามารถเข้าไปใช้งานได้ในหน้าเมนู Glyph Setting ซึ่งเมื่อเราจับเวลานับถอยหลังแล้ว ไฟ Glyph หลอดแรกจะค่อย ๆ ลดตามเวลาที่เราตั้งไว้ โดยจะรองรับการตั้งเวลาได้นานที่สุด 60 นาที แต่น่าเสียดายที่ฟีเจอร์นี้ไม่รองรับการตั้งเวลาผ่านแอปนาฬิกาของระบบ ต้องเข้าไปเปิดใช้งานบน Glyph Setting เท่านั้น

Glyph Composer แต่งริงโทนพร้อมแอนิเมชั่นเองได้

Glyph Composer จะเป็นฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานแต่งเสียงริงโทน พร้อมแอนิเมชั่นไฟ Glyph LED ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องง้อ Preset Ringtone โดยตัว Glyph Composer จะมาพร้อม Sound Pack หรือชุดเสียงมาให้เลือกแต่งทั้งหมด 5 แบบ มาพร้อมปุ่มเสียงแบบ Launchpad ให้กด 5 ปุ่มตามตำแหน่งไฟหลังเครื่อง ทั้งนี้หากจะใช้ฟีเจอร์นี้ต้องดาวน์โหลดแอป Glyph Composer จาก Play Store มาก่อนถึงจะใช้งานได้

นอกจากนี้ Glyph Interface แบบใหม่ยังรองรับการแสดงผลในแอป Third Party ด้วย แต่เบื้องต้นตอนนี้จะใช้งานได้แค่บนแอป Uber เท่านั้น โดยไฟ Glyph จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อรถโดยสารที่เราเรียกเข้าใกล้จุดหมาย หรือตำแหน่งที่เรียกให้มารับเรา ซึ่งในอนาคตอาจมีแอปอื่น ๆ ในไทยรองรับเพิ่มเติมก็ได้

Nothing OS 2.0 รอมแบบคลีน ๆ พร้อมหน้าตาที่กลมกล่อมกว่าเดิม

Nothing OS 2.0 มาพร้อมหน้าตา UI แบบใหม่ที่มาในโทน Monochrome และใช้ Font แบบ Pixel Dot เน้นสีดำขาว มี Icon Pack และ Widgets ต่าง ๆ ที่แสดงความเป็น Nothing ได้อย่างเต็มเปี่ยม ส่วนใครกังวลเรื่อง Bloatware แอปขยะต่าง ๆ บอกได้เลยว่าแทบไม่มีให้เห็น

ส่วนเมนูการใช้งานส่วนใหญ่ก็มาในสไตล์ Pure Android 13 เลย การปัดใช้งานแอนิเมชั่นต่าง ๆ ก็ลื่นไหลไม่ติดขัด ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีมากจริง ๆ นอกจากนี้ทาง Nothing เขายังได้การันตีการอัปเดตซอฟต์แวร์ข้ามเวอร์ชั่น Android ให้ถึง 3 ปี แถมยังคอยอัปเดตแพทช์ความปลอดภัยให้ทุก ๆ 2 เดือนตลอดระยะเวลา 4 ปีด้วย เรียกได้ว่าซื้อครั้งเดียว ใช้งานกันได้ยาว ๆ เลยทีเดียว

ใช้งานร่วมกับ Nothing Ear (2) ให้ประสบการณ์ Ecosystem แบบไร้รอยต่อ

Nothing นอกจากจะขายสมาร์ทโฟนแล้ว เขาก็ยังมีหูฟังตัวดังอย่าง Nothing Ear (2) ที่ล่าสุดได้ออกสีดำมาวางจำหน่ายเพิ่มเติม เพื่อต้อนรับจับคู่กับ Nothing Phone (2) สี Dark Grey นั่นเอง โดยตัวหูฟังมาพร้อมกับจุดเด่นที่น้ำหนักตัวหูฟัง ที่มาในขนาดเบามาก ๆ เพียง 4.5 กรัม มีโหมดตัดเสียงรบกวนแบบ Adaptive ปรับได้หลายระดับ แถมยังรองรับการถอดรหัสสัญญาณ LDHC (Hi-Res Wireless 24 bits) ด้วย 

ส่วนประสบการณ์การใช้งานหูฟัง Nothing Ear (2) ร่วมกับ Nothing Phone (2) ต้องบอกว่าไร้รอยต่อจริง ๆ ทั้งการเชื่อมต่อ และการปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพราะแค่เปิดฝาหูฟังก็เชื่อมต่อให้ทันที พร้อมโชว์เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ของตัวหูฟัง เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับฝั่ง iOS มาก ๆ แถมยังสามารถปรับแต่งรูปแบบการตัดเสียงรบกวน รวมถึงสไตล์เสียงต่าง ๆ ให้เข้ากับการฟังของเราได้ผ่านแอป Nothing X ด้วย

ดังนั้นใครที่กำลังจะมีแผนซื้อ Nothing Phone (2) ก็ลองพิจารณาหูฟังไร้สายจาก Nothing ไปใช้ด้วยสักอันก็ไม่เสียหายนะ และสำหรับใครที่อยากรู้ว่าการใช้งานจริงเป็นอย่างไร เราก็เคยรีวิวไว้แล้วสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้เลย

https://droidsans.com/review-nothing-ear-2/

REVIEW | รีวิว Nothing Ear (2) หูฟังไร้สายดีไซน์ล้ำ เสียงใส ตัดเสียงรบกวนดี ในราคา 5,490 บาท

กล้องอัปเกรดใหม่ ดีกว่าเดิม

กล้องหลังคู่ 50MP

Nothing Phone (2) มาพร้อมกล้องหลังคู่ 2 ตัว ที่ตัวกล้องหลักที่รับการอัปเกรดไปใช้เซนเซอร์ระดับเรือธงอย่าง IMX890 ความละเอียด 50MP มีระบบกันสั่น OIS + EIS ส่วนกล้อง Ultrawide พ่วงมากับเซนเซอร์ Samsung JN1 ความละเอียด 50MP นอกจากนี้ยังมี AI คอยช่วยปรับจูนให้คุณภาพภาพถ่ายดีขึ้น โฟกัสวัตถุเคลื่อนไหวได้เที่ยงตรง 

ส่วนตัวซอฟต์แวร์กล้องก็ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไป หน้าตาแอปกล้องค่อนข้างเบสิค ไม่ซับซ้อน การปรับตั้งค่าความละเอียด หรือเลือกฟิลเตอร์โหมดการถ่ายภาพได้ง่าย ๆ เพียงปัดจอขึ้นลง ซ้าย – ขวา ถ่ายแล้วสวยเลย ไม่ต้องงมเยอะ แต่ผู้ใช้งานสายฮาร์ดคอร์ก็มีโหมดถ่ายภาพแบบ Pro มาให้เลือกปรับกันได้ด้วย

ตัวอย่างภาพจากกล้องหลัก

คุณภาพรูปที่ได้ออกมาจากกล้องหลักก็ถือว่ากลมกล่อมมาก ๆ ทั้งสีสันที่มีความเป็นธรรมชาติ มีการปรับความอิ่มสีให้ดูสดใสขึ้นนิดหน่อย Dynamic Range อยู่ในระดับที่พอใช้ได้ ไม่ได้กว้างมาก ๆ แต่ไม่น้อยเกิน ความคมของภาพก็ไม่ได้ดูโอเวอร์เกินจริง

ตัวอย่างภาพจากกล้อง Ultrawide

ส่วนกล้อง Ultrawide ก็ทำได้ดีไม่แพ้กล้องหลักขอบภาพไม่เบี้ยว รายละเอียด ความคมชัดต่าง ๆ ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก ๆ แต่เรื่องสีสัน เมื่อเทียบกับการถ่ายเลนส์ปกติอาจจะดรอปลงมานิดหน่อย จะมีความติดเหลืองนิด ๆ นอกจากนี้ตัวเลนส์ Ultrawide ยังรองรับการถ่ายภาพในโหมด Macro ด้วย

ซูมจากระยะ Ultrawide / x1 / x2 /x5 / x10

นอกจากนี้ Nothing Phone (2) ยังมาพร้อมกับระบบ Super-Res Zoom x2 ที่สามารถซูมแบบ Digital ได้ 2 เท่า โดยที่ไม่สูญเสียรายละเอียด ซึ่งทำออกมาได้ดีใช้ได้เลยทีเดียว อีกทั้งยังมาพร้อมกับโหมด Portrait ถ่ายภาพบุคคลที่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ อาจจะต้องรอให้ซอฟต์แวร์นิ่งกว่านี้ 

กล้องหน้าใหม่ ความละเอียดสูงกว่าเดิม

Nothing Phone (2) ยกระดับการเซลฟี่ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการอัปเกรดกล้องเป็นเซนเซอร์ IMX615 ความละเอียด 32MP สามารถปรับระยะเซลฟี่มุมกว้างได้ ส่วนคุณภาพของรูปนั้น ถือว่าสวยพอตัว ดีเทลผิวมาครบ มีโหมด Beauty ให้เลือกปรับ 2 ระดับ คือระดับธรรมชาติ และระดับสูง ที่ช่วยเบลอผิวเราเป็นดูเนียนขึ้น โดยที่ไม่ดูโป๊ะจนเกินไป

งานวิดีโอ

งานวิดีโอของ Phone (2) ถือว่าทำได้ค่อนข้างน่าพอใจทั้งกล้องหน้า และกล้องหลัง โดยกล้องหลังจะสามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด 4K@60FPS เวลาเดินลงเท่ามีสั่นไหวนิดหน่อย แต่ถ้าอยากเลือกสลับเลนส์ระหว่าง Ultrawide กับเลนส์หลักจะรองรับการถ่ายในโหมดความละเอียดสูงสุด 4K@30FPS เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมี Action Mode กันสั่นแบบโหด ๆ เลือกถ่ายที่ความละเอียด 1080P@60FPS แต่ส่วนตัวคิดว่ายังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเมื่อเคลื่อนไหวเร็ว ๆ แล้ว ภาพมีอาการย้วยจากระบบกันสั่นพอสมควร

ส่วนกล้องหน้าถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080P@60 FPS พร้อมโหมดกันสั่น EIS ซึ่งทำได้ดีมาก ๆ ทั้งการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ แถมตัว EIS เองยังย้วยน้อยมาก ๆ แถมยังครอปภาพได้ไม่ใกล้หน้าเกินไปด้วย

ประสิทธิภาพการใช้งาน 

Nothing Phone (2) มาพร้อมกับชิปประมวลผลที่ยกระดับขึ้นกว่ารุ่นก่อนมาก ๆ เพราะมากับชิป Snapdragon 8+ Gen 1 อดีตเรือธงตัวแรงที่การใช้งานบอกเลยว่าลื่นหายห่วง ทั้งงานหนัก งานเบา แต่จะมีเรื่องของอุณหภูมิที่อุ่น ๆ นิดหน่อยหากใช้งานกล้องถ่ายติดต่อกัน หรือเล่นเกมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ

เมื่อมากับชิปเรือธงแน่นอนว่าการเล่นเกมถือว่าหายห่วง และ Nothing OS 2.0 ยังมาพร้อมกับ Game Mode ที่เพิ่มเมนูลัดให้ช่วยให้อัดวิดีโอหน้าจอ, แคปหน้าจอ, ปิดการแจ้งเตือน รวมถึงไลฟ์สด Streaming บน YouTube ได้สะดวกยิ่งขึ้น แถมยังช่วยรีดประสิทธิภาพในการเล่นเกมบางเกมได้ด้วย นอกจากนี้ยังรองรับฟีเจอร์ดู FPS ขณะเล่นเกมโดยไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม

สเปค NOTHING PHONE (2)

  • หน้าจอ LTPO OLED ขนาด 6.7 นิ้ว ความละเอียด FHD+ (2412 x 1080) รีเฟรชเรท 1 – 120Hz รองรับ HDR10+
  • CPU : Snapdragon 8+ Gen 1
  • RAM : 12GB
  • ความจุ : 256GB / 512GB
  • กล้องหลัง 2 ตัว
    – กล้องหลักเซนเซอร์ IMX890 ความละเอียด 50MP (f/1.88), กันสั่น OIS / EIS
    – กล้อง Ultrawide เซนเซอร์ Samsung JN1 ความละเอียด 50MP
  • กล้องหน้า :  เซนเซอร์ IMX615 ความละเอียด 32MP
  • การเชื่อมต่อ :  5G, 4G LTE, Wi-Fi 6 (ax), Bluetooth 5.3, NFC, USB-C
  • สแกนนิ้วมือใต้จอ
  • ระบบเสียง : ลำโพงสเตอริโอ, ไมโครโฟน 3 ตัว
  • มาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP54
  • แบตเตอรี่ : 4700 mAh รองรับชาร์จไวมีสาย 45W ไร้สาย 15W (ไม่มีหัวชาร์จแถมในกล่อง)
  • ขนาด / น้ำหนัก : 162.13 x 76.35 x 8.55 มม. / 200.68  กรัม
  • ระบบ Android 13 ครอบด้วย Nothing OS 2
  • สีที่วางจำหน่าย : ขาว ดำ

เบื้องต้นเกมอย่าง ROV และ PUBG สามารถเล่นได้ที่โหมดกราฟิกสูงสุด 60FPS จะอัดจอไปเล่นไปก็ไม่มีปัญหา เฟรมเรทไม่มีร่วงเลย ส่วนเกมที่กราฟิกโหด ๆ เราก็ได้ทดสอบมา 2 เกม ดังนี้

Genshin Impact

Genshin Impact สามารถปรับเล่นในโหมดกราฟิกสูงสุดได้สบาย ๆ เฟรมเรทอยู่ที่ประมาณ 60 – 55 FPS ซึ่งถ้าเครื่องมีอุณหภูมิสะสมจะอาจมีแตะหลัก 4 บ้าง และถ้ามีการอัดจอร่วมด้วยก็จะตกลงมาอยู่ที่ราว ๆ 45 – 40 FPS โดยรวมแล้วถือว่าทำได้ดีไม่มีปัญหา

Garena Undawn

เกมใหม่ล่าสุดที่กินสเปคเครื่องสุดโหดอย่าง Garena Undawn ก็สามารถเปิดกราฟิกในโหมดสูงสุดได้ด้วยเช่นกัน สามารถเล่นได้ที่เฟรมเรท 60 – 55 FPS เช่นกัน แต่ในกรณีที่เดินผ่านฉากที่มีวัตถุเยอะ ๆ อาจจะมีร่วงลงไป 50 บ้างบางจังหวะ และถ้าอัดจอไปด้วย เล่นไปด้วยเฟรมเรทจะอยู่ที่ราว ๆ 40 – 37 FPS

แบตเตอรี่ใช้งานได้ตลอดวัน

Nothing Phone (2) มาพร้อมแบตเตอรี่ที่เยอะกว่าในรุ่นก่อนนิดหน่อย จาก 4,500 mAh เป็น 4,700 mAh จากการทดสอบใช้งานทั่วไปใส่ซิม 4G เชื่อมต่อ Wi-Fi ปรับแสงจอ Auto Brightness เล่นโซเชียล ดู YouTube ถ่ายรูปในระหว่างวัน มีเล่นเกมปรับกราฟิกโหด ๆ บ้าง ในระยะเวลาสแตนด์บาย 17 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า – ตี 1 ใช้เวลา Screen Time ไปประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง จากแบตเตอรี่ 100% เหลือเพียง 8% ซึ่งถ้าในระหว่างวันไม่เล่นเกมหนัก ๆ ยังไงก็ใช้งานได้เต็มวันสบาย ๆ

นอกจากนี้ Nothing Phone (2) ยังรองรับระบบชาร์จไวสูงสุด 45W ที่ทางแบรนด์เคลมไว้ว่าชาร์จจาก 1 – 100% ใช้เวลาราว ๆ 55 นาที แถมยังรองรับการชาร์จไร้สายมาตรฐาน Qi 15W ไม่ต้องพกสายชาร์จให้รกกระเป๋า นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมีระบบ Reverse Charging ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นได้ด้วย ซึ่งถ้าใครใช้หูฟัง Nothing Ear (2) อยู่ก็สามารถนำตัวเคสมาแปะที่หลังเครื่องเพื่อชาร์จได้เลย ซึ่งเมื่อแปะแล้วจะมีเอฟเฟกต์ไฟสวย ๆ ขึ้นมาด้วย

สรุปการใช้งาน Nothing Phone (2)

Nothing Phone (2) ถือเป็นหนึ่งในมือถือไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างครบเครื่อง ใช้งานง่ายตามคอนเซปต์ของแบรนด์ มาพร้อม UI ที่คลีน ๆ ตอบสนองได้ลื่นไหล มีฟีเจอร์กำลังดีไม่เยอะเกินจนหนักเครื่อง แถมประสิทธิภาพโดยรวมยังดีขึ้นกว่าเดิมมาก จะเล่นเกมหนัก ๆ ก็ตอบโจทย์ หรือถ้าใช้งานทั่วไปก็ใช้ได้อีกหลายปี เหมาะกับคนที่ชอบความเรียบง่าย ในดีไซน์ที่แตกต่าง รับรองว่าถ้าถือแล้วมีแต่คนมองแน่นอน

ข้อดี

  • ดีไซน์สวยไม่เหมือนใคร
  • ไฟ Glyph Interface ทำอะไรได้มากกว่าเดิม
  • จอสวย ใหญ่กำลังดี
  • กล้องคุณภาพเยี่ยม ถ่ายง่าย ถ่ายแล้วสวยเลย ไม่ต้องแต่งเพิ่ม
  • ชิประดับเรือธง รองรับทั้งงานหนัก งานเบา
  • ROM ทำมาดีมาก ๆ ลื่นไหล ไม่หนัก คลีน ๆ เหมือน Pure Android
  • ใช้งานได้นานการันตีอัปเดตให้ถึง 4 ปี

ข้อสังเกต

  • โหมดถ่ายภาพค่อนข้างน้อย อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป
  • ฟีเจอร์ไฟ Glyph Interface ตั้งเวลานับถอยหลัง ไม่รองรับในแอปนาฬิกาปกติ
  • กล้องหน้ารองรับการอัดวิดีโอสูงสุดที่ 1080P@60FPS เท่านั้น
  • การตัดขอบ เบลอหลังในโหมด Portrait ยังไม่นิ่ง
  • Always on Display ปรับแต่งได้ไม่เยอะ

ราคา Nothing Phone (2) และ Nothing Ear (2)

Nothing Phone (2) วางจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (22 กรกฎาคม 2566) โดยจะมีให้เลือกทั้งหมด 2 สี ได้แก่ สีขาว White และสีดำเทา Dark Grey และจะมีให้เลือกทั้งหมด 2 รุ่นความจุ ดังนี้

  • 12GB + 256GB ราคา 24,990 บาท
  • 12GB + 512GB ราคา 27,990 บาท

ส่วน Nothing Ear (2) สีดำก็วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน ในราคา 5,490 บาท ทั้ง Nothing Phone (2) และ Ear (2) สามารถหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้แก่ dotlife.store, KOAN และ Nothing Official Store บน Lazada

Adblock test (Why?)


REVIEW | รีวิว Nothing Phone (2) ไฟ Glyph Interface เก่งกว่าเดิม อ?... - Droidsans
Read More

No comments:

Post a Comment

รีวิว Death Stranding Director's Cut เล่นบน iPad Pro M2 - iPhoneMod

ในที่สุดสาวก Apple อย่างเราก็ได้เล่นเกม Death Stranding เวอร์ชัน Director’s Cut บนอุปกรณ์ Apple กันแล้ว ใครอยากลองเล่นเข้าไปซื้อเกมใน App S...