ส่วนตัวยอมรับว่าเมื่อก่อนผมเคยรู้สึกเฉย ๆ หรือออกจะมองข้ามผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหูฟังของยี่ห้อ EDIFIER อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าแบรนด์นี้เขาไม่ได้มีสินค้าหูฟังที่โดดเด่นนัก อีกเหตุผลหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือ ผมยังไม่เคยฟังหูฟังของยี่ห้อนี้เลย
ทว่าหลังจากที่ได้รีวิวหูฟังไร้สายรุ่น NeoBuds Pro ของ EDIFIER ไปแล้ว ผมก็รู้สึกสนใจหูฟังของยี่ห้อนี้มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้เมื่อทราบว่า EDIFIER เขามีหูฟังรุ่นใหม่ออกมามีชื่อรุ่นว่า ‘STAX SPIRIT S3’ เป็นหูฟังไร้สายแบบครอบหู แถมยังมีชื่อของผู้ผลิตหูฟังชื่อดังที่ผมรู้จักมาเนิ่นนานอย่างยี่ห้อ STAX ‘สแตกซ์’ และยี่ห้อ Audeze ‘ออเดซซี’ มาเกี่ยวข้องด้วย ผมจึงไม่รอช้าที่จะขอทำความรู้จักมันให้มากขึ้น
หูฟังไร้สาย + ไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติก
หนึ่งในจุดขายหลักของ EDIFIER STAX SPIRIT S3 นั่นคือการเลือกใช้งานตัวขับเสียงหรือยูนิตไดรเวอร์แบบแผ่นฟิล์มหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ‘พลานาร์แมกเนติก (Planar Magnetic)’
โดยพื้นฐานแล้วไดรเวอร์ชนิดนี้ทำงานโดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กแรงสูงและตัวนำไฟฟ้าที่ฉาบอยู่บนแผ่นฟิล์มบาง ๆ มีจุดเด่นในเรื่องของการตอบสนองต่อสัญญาณเสียงได้อย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกมาได้ดีเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับไดรเวอร์แบบไดนามิกทั่วไป
ซึ่งที่อยู่ในหูฟังรุ่นนี้ทางผู้ผลิตเขาก็คุยว่ามันแอดวานซ์มากขึ้นไปอีก เพราะว่าได้พัฒนาให้เป็นไดรเวอร์พลาร์นาร์แมกเนติกที่มีความเพี้ยนต่ำ (Ultra Low Distortion Planar Magnetic Drivers) แถมยังตอบสนองไดนามิกของเสียงได้ดีด้วยในเวลาเดียวกัน โดยในหูฟังรุ่นนี้เลือกใช้ไดรเวอร์พลานาร์แมกเนติกขนาด 89mm x 70mm มีช่วงตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 10Hz~40KHz
ด้วยวิถีโลกสมัยใหม่ที่มีการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เพื่อพัฒนาสินค้าที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ร่วมกัน EDIFIER เองก็ไม่ได้พัฒนาไดรเวอร์พลาร์นาร์แมกเนติกในหูฟังรุ่นนี้โดยลำพังทว่าได้ร่วมมือกับ Audeze ผู้ผลิตหูฟังพลานาร์ฯ ชื่อดังในการพัฒนาตัวไดรเวอร์มาใช้กับหูฟังไร้สายรุ่นนี้
ว่าไปตั้งแต่เรื่องของการออกแบบตัวไดอะแฟรมหรือชิ้นส่วนสำคัญที่มีหน้าผลักอากาศเพื่อให้เกิดเป็นคลื่นเสียงที่มีชื่อเรียกว่า EqualMass™ Diaphragm รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้รับการแบ่งปันมาจาก Audeze ไม่ว่าจะเป็น Uniforce™ Diaphragm ที่ช่วยให้เสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความเพี้ยนต่ำ, ระบบแม่เหล็กแบบ Fluxor™ ที่ช่วยให้เสียงที่ได้มีรายละเอียดดีและตอบสนองความถี่ได้กว้าง
หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ทาง Audeze ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบคลื่นเสียงด้านหน้าไดอะแฟรมที่เป็นระนาบแผ่นฟิล์มบาง ๆ อย่าง Fazor™ Phase Management ที่ช่วยให้ได้เสียงสะอาดมากขึ้น สามารถถ่ายทอดรายละเอียดและมิติเสียงได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับหูฟังแบบพลานาร์ทั่ว ๆ ไป ก็ยังมารวมอยู่ในไดรเวอร์ของหูฟังรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากตัวไดรเวอร์แล้ว เทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สายในหูฟังรุ่นนี้ยังเป็นเทคโนโลยี Bluetooth 5.2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวอร์ชันที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้สำหรับสินค้าในกลุ่มคอนซูมเมอร์
นอกจากนั้นมันยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี Qualcomm® Snapdragon Sound™ และ aptX Adaptive Codec ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายแบบ hi-res ด้วย รวมทั้ง Bluetooth Codec อื่น ๆ อย่าง aptX, aptX HD และ SBC
มีข้อสังเกตว่าในรายชื่อ Bluetooth Codec ข้างต้นนั้นไม่มี AAC รวมอยู่ด้วย ดังนั้นคนที่ใช้อุปกรณ์ iOS หรือ iPadOS ซึ่งปัจจุบันยังคงยึดติดอยู่กับ AAC Codec อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากหูฟังรุ่นนี้เท่าที่ควรนะครับ
เทคโนโลยีไร้สายในหูฟังรุ่นนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อ Multi-Point Connectivity อุปกรณ์ได้ 2 ตัวพร้อมกัน สามารถสลับใช้งานระหว่างสองอุปกรณ์ได้
สำหรับแบตเตอรี่ในตัวหูฟังนั้นสามารถใช้งานได้นานถึง 80 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าแบตอึดมาก ๆ สำหรับหูฟังไร้สาย นอกจากนั้นตัวหูฟังยังรองรับการชาร์จเร็ว ซึ่งใช้เวลาชาร์จเพียง 10 นาทีก็สามารถใช้งานได้นานถึง 11 ชั่วโมง
ปัจจุบัน EDIFIER STAX SPIRIT S3 มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้วในราคา 12,900 บาท มีจำหน่ายที่ 425 Degree: https://bit.ly/3QRZjrc
ลองใช้งานเบื้องต้น
อุปกรณ์เสริมมาตรฐานที่ให้มาด้วยกับหูฟัง EDIFIER STAX SPIRIT S3 ประกอบไปด้วยกระเป๋าเก็บหูฟังที่มีรูปทรงและวัสดุแลดูคุ้นตามาก ๆ สำหรับผม เพราะว่ามันดูคล้ายกระเป๋าใส่หูฟัง Audeze LCD-1 จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว
อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาด้วยยังมีสายชาร์จ USB-C (ขั้วต่อ USB-A to USB-C) สายสัญญาณสำหรับเชื่อมต่อใช้งานเป็นหูฟังแบบเสียบสาย (ขั้วต่อ 3.5mm to 3.5mm ตัวสายห่อหุ้มด้วยเส้นใยถัก) และอะแดปเตอร์แปลงขั้วต่อ 3.5mm เป็น 6.3mm
นอกจากนั้นทาง EDIFIER ยังให้แผ่นรองหูหรือเอียร์แพดเสริมมาอีกคู่หนึ่งสำหรับให้เลือกเปลี่ยนใช้งาน (เอียร์แพดของหูฟังรุ่นนี้สามารถถอดเปลี่ยนได้) ตัวเอียร์แพดเสริมนั้นเป็นเอียร์แพดทที่มีผิวสัมผัสเป็นผ้าเนื้อนุ่มและระบายความร้อนได้ดีกว่าเอียร์แพดหนังแกะมาพร้อมกับตัวหูฟัง
วิธีการเปลี่ยนเอียร์แพดนั้นแค่ใช้ตัวงัด (แงะ) ที่มีหน้าตาคล้ายปิ้กกีตาร์ซึ่งมีให้มาด้วยในกล่องค่อย ๆ แงะและงัดไปที่รอบขอบเอียร์แพดส่วนที่ยึดกับตัวเอียร์คัป (กรอบของหูฟัง) เพื่อทำการปลดล็อคหมุดพลาสติกขนาดเล็กสี่ตัว
เวลาใส่กลับเข้าไปก็แค่กดหมุดให้ลงล็อคทั้งสี่จุด ไม่แนะนำให้ปลดล็อคด้วยการดึงที่ตัวเอียร์แพดโดยตรงเพราะอาจทำให้เอียร์แพดฉีกขาดหรือมีอายุใช้งานสั้นลงได้
ตัวหูฟังมีขนาดปานกลางแต่มีน้ำหนักค่อนข้างมากคือตามสเปคฯ อยู่ที่ 329 กรัม เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวไดรเวอร์แบบพลานาร์แมกเนติก อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแบตเตอรี่และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในตัวหูฟังเอง อย่างไรก็ดีมันยังเบากว่าหูฟังพลานาร์หลายรุ่นโดยเฉพาะหูฟังแบบไร้สายอย่าง HiFiMAN Deva ที่หนัก 360 กรัม หรือแม้แต่หูฟังไร้สายไดรเวอร์แบบไดนามิกอย่าง Apple AirPods Max ซึ่งหนักถึง 384.8 กรัม
หรือแม้แต่หูฟังไดนามิกพาสสีฟแบบเสียบสายที่ไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ในตัวบางรุ่นก็ยังหนักพอ ๆ กันหรือน้ำหนักมากกว่า EDIFIER STAX SPIRIT S3 อย่างเช่น Shure SRH-940 หรือ Rode NTH-100 ที่มีน้ำหนักมากถึง 320 กรัมและ 350 กรัม ตามลำดับ (ไม่รวมสายหูฟัง)
EDIFIER STAX SPIRIT S3 เป็นหูฟังไร้สายระดับพรีเมียมสมัยใหม่ที่ไม่มีระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ ไม่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ และมีไมโครโฟนมาให้ใช้งานแค่ตัวเดียว โดยมาพร้อมกับเทคโนโลยี Qualcomm® aptX™ Voice ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงในการโทร (ลองฟังทดสอบคุณภาพเสียงได้ในคลิปวิดีโอประกอบบทความนี้)
สำหรับปุ่มควบคุมที่ตัวหูฟังนั้นก็เรียบง่ายครับ มีแค่ 3 ปุ่ม ปุ่มเพิ่มเสียง ปุ่มลดเสียง และปุ่มมัลติฟังก์ชัน แต่การใช้งานนั้นเข้าใจง่ายและสะดวกเหมือนกันครับ ถ้าเล่นหรือหยุดเพลงให้กดครั้งเดียว สำหรับการข้ามไปคอนเทนต์ถัดไปหรือว่าการย้อนคอนเทนต์กลับหลัง สามารถทำได้โดยการกดปุ่มลดเสียงค้างไว้หรือกดปุ่มเพิ่มเสียงค้างไว้ตามลำดับ
เช่นเดียวกับหูฟังไร้สายรุ่น NeoBuds Pro หูฟังรุ่นนี้ก็สามารถใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Edifier Connect ในสมาร์ทโฟนได้ด้วย โดยเมื่อใช้งานเราสามารถดูระดับของพลังงานแบตเตอรี่ในตัวหูฟังได้ เราสามารถปรับชดเชยเสียงของการเปลี่ยนชนิดของเอียร์แพดได้ เลือกฟังก์ชันสำหรับการกดปุ่มมัลติฟังก์ชันสองครั้งหรือสามครั้ง ตลอดจนการตั้งค่าส่วนอื่น ๆ (ดูรายละเอียดในคลิปวิดีโอในบทความนี้)
อีกส่วนที่สำคัญเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพเสียงโดยตรงนั่นคือการเลือกตั้งค่า Sound Effect หรือที่จริงแล้วก็มี Preset EQ เพื่อเลือกแนวเสียงให้กับตัวหูฟังนั่นเอง โดยมี 3 ตัวเลือกได้แก่ Classic, Hi-Fi และ STAX ส่วนตัวแล้วผมชอบเสียงที่ตัวเลือก Classic ซึ่งเป็นค่าดีฟอลต์มากที่สุด เพราะว่ามีสมดุลเสียงตลอดย่านความถี่ดี ฟังแล้วไม่รู้สึกขาด ๆ เกิน ๆ
สำหรับตัวเลือก Hi-Fi นั้นเสียงทั้งหมดฟังดูกระชับ มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น แต่ขาดความผ่อนปรนในลักษณะของการตอบสนองต่อไดนามิกคอนทราสต์ไปสักนิด อาจดีกับเพลงบางแนวแต่ไม่ใช่ตัวเลือกที่ผมชอบ
ในขณะที่โหมด STAX นั้นเข้าใจว่าทาง EDIFIER ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ STAX ผู้ผลิตหูฟังอิเล็กโตรสแตติกระดับไฮเอนด์ชื่อดัง พยายามจะผสานความเป็น STAX เข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่าของหูฟังไร้สายรุ่นนี้ จึงได้เพิ่ม Preset EQ ที่พยายามเลียนเสียงของหูฟัง STAX เข้ามาด้วย ทว่าจากที่ได้ลองใช้งานผมคิดว่าน้ำเสียงในภาพรวมที่ได้มันบางไปหน่อย ทำให้ฟังเพลงได้ไม่หลากหลาย
ดังนั้นตัวเลือกนี้อาจไม่มีความไม่จำเป็นครับ เว้นเสียแต่ว่าทาง EDIFIER ต้องการหยิบยืมชื่อและบุคลิกความเป็น STAX ในบางด้าน (โปร่ง เบา พลิ้วไหว) มาใช้เป็นกิมมิคเท่านั้นเอง
สำหรับการใช้งานแบบเชื่อมต่อด้วยสายหูฟังซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์เสียงที่ไม่มีเอาต์พุตเป็นระบบไร้สายได้ด้วย เช่น พวกอุปกรณ์บันทึกเสียงพกพาหรือพวกอุปกรณ์ซาวด์อินเทอร์เฟซต่าง ๆ ผมพบว่าหูฟังรุ่นนี้ไม่สามารถใช้งานในรูปแบบของหูฟังแบบพาสสีฟได้แม้ว่าจะเสียบสายหูฟังแล้ว
คือมันยังจำเป็นต้องเปิดการทำงานในส่วนของระบบแอคทีฟในตัวหูฟังด้วยครับ เท่ากับว่าในโหมดเสียบสายก็ยังต้องใช้งานในโหมดแอคทีฟ ยังมีการใช้งานภาคขยายเสียงในตัวหูฟัง มองในแง่ลบคือ ถ้าแบตเตอรี่หมดก็ใช้งานไม่ได้แม้เสียบใช้สายหูฟังแล้ว
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็พบข้อดีอยู่เหมือนกันนั่นคือ เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการมองหาแอมป์มาขับ เพราะหูฟังพลานาร์หลายรุ่นขึ้นชื่อว่าขับค่อนข้างยากจนถึงขับยาก บางทีถ้าเป็นอุปกรณ์พกพาตัวเล็ก ๆ หรือสมาร์ทโฟนอาจมีปัญหาขับไม่ออกได้ แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับ EDIFIER STAX SPIRIT S3 อย่างแน่นอน
คุณภาพเสียงและการฟังเพลง
โดยปกติจุดเด่นของตัวขับเสียงแบบพลาร์นาร์แมกเนติกนั้นคือ การตอบสนองทรานเชียนต์ได้ดีเนื่องจากมีไดอะแฟรมหรือส่วนที่ทำหน้าที่ผลักอากาศเพื่อให้เกิดเป็นคลื่นเสียงนั้นเป็นแค่แผ่นฟิล์มบาง ๆ ไม่มีขดลวดวอยซ์คอล์ยซึ่งมีมวลมากกว่าตัวแผ่นฟิล์มเองมาคอยเพิ่มมวลที่ต้องเคลื่อนไหว (moving mass) ทำให้มันสามารถตอบสนองต่อสัญญาณเสียงได้อย่างฉับไว
ไม่ว่าจะเป็นการขยับจากจุดหยุดนิ่ง หรือการยั้งตัวจากการขยับ ทำให้เสียงที่ได้มีจุดเด่นที่ความโปร่งใส ความพลิ้ว ความกระจ่างสดใสโดยเฉพาะในย่านเสียงกลางและกลางสูงขึ้นไป ในขณะที่เสียงโดยรวมมีความกระชับ ความคมชัดเป็นจุดเด่น
ซึ่งจากที่ผมได้ลองฟัง EDIFIER STAX SPIRIT S3 หูฟังรุ่นนี้ก็มีลักษณะดังกล่าวอย่างครบถ้วนนะครับ รายละเอียดเสียงดีมาก แบนด์วิดธ์เสียงกว้างขวาง สมดุลเสียงค่อนข้างเป็นกลาง เสียงสะอาด คมชัด มิติเสียงดีเยี่ยม
ขณะที่การตอบสนองความถี่นั้นสามารถถ่ายทอดเสียงทุ้มออกมาได้กระชับแน่น ขณะที่มวลเนื้อเสียงเองก็ไม่ได้บางเบาแต่อย่างใด เรียกว่าสามารถใช้ฟังเพลงป๊อปทั่วไป ป๊อปร็อค เพลงร้อง คลาสสิก แจ๊ซหรือแนวอะคูสติก ได้สบาย ๆ ผมเองใช้งานแล้วไม่รู้สึกว่าต้องปรับตัวหรือต้องยอมรับข้อพร่องอะไรมากมาย
หากว่าเพลงหรือดนตรีนั้นบันทึกเสียงมาได้ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย คุณลักษณะต่าง ๆ ในน้ำเสียงนั้นจะพรั่งพรูออกมาโดยไม่มีลักษณะของความรุกเร้าจนเกินควร รายละเอียดเหล่านั้นสามารถได้ยินชัดเจนเป็นพิเศษ ได้ยินโดยไม่ต้องตั้งใจฟัง (ตัวอย่างเพลงที่ผมคัดเลือกเอาไว้ในระว่างการรีวิวหูฟังรุ่นนี้ https://tidal.com/playlist/4a173905-343d-4416-b749-990148e5e573)
อย่างเช่น เสียงร้องของ Jane Monheit ในเพลง ‘Let’s Talks A Walk’ จากอัลบั้ม Come What May (TIDAL Lossless) หรือเสียงของ Tony Bennett และ Lady GaGa ในเพลง ‘Love For Sale’ ในอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลง (TIDAL Master) รายละเอียดที่ผมได้ยินแทบมองเห็นปากของนักร้องเลยล่ะครับ เสียงเบส เสียงเปียโน เสียงกีตาร์ รวมทั้งเครื่องเป่านั้นออกมาคมชัดสดใสมาก ๆ
และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ มันเป็นหูฟังที่ให้เวทีเสียงกว้างขวางด้วยครับแม้ว่าจะเป็นหูฟังระบบปิดหลังก็ตาม ส่วนตัวผมชอบนะครับที่มันเป็นหูฟังระบบปิดหลัง เพราะนั่นหมายความว่าผมสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเสียงจะไปรบกวนคนรอบข้าง ใช้งานแบบเอาต์ดอร์ก็ไม่มีปัญหา
เวลาใช้งานในโหมดเสียบสายก็สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ประเภทซาวด์อินเทอร์เฟซได้โดยไม่ต้องกลัวว่าเสียงจากหูฟังจะรั่วไหลออกไปตีกับไมโครโฟน ดังนั้นเพื่อน ๆ พี่ ๆ หรือน้อง ๆ สามารถเอาไปใช้เป็นหูฟังตอนทำไลฟ์ ทำพอดแคสต์ หรือเอาไปใช้ประชุมออนไลน์ได้เลยครับ
สำหรับการเชื่อมต่อบลูทูธแม้ว่าการเชื่อมต่อในโหมด Codec เสียงที่ดีที่สุดอย่าง aptX Adaptive นั้น อาจจำเป็นต้องอาศัยสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เล่นเพลงที่รองรับเทคโนโลยี Qualcomm® Snapdragon Sound™ ด้วยอย่างเช่น Xiaomi 12 Pro (ดูเพิ่มเติมหรืออัปเดตล่าสุดได้ที่นี่) ทว่าการใช้งานโหมดบลูทูธอื่น ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลกับคุณภาพเสียงของหูฟังรุ่นนี้มากมายครับ หมายความว่าเรายังสามารถรับรู้ได้ถึงคุณภาพเสียงที่ดี และประสิทธิภาพของไดรเวอร์แบบพลานาร์อยู่อย่างครบถ้วนครับ
STAX SPIRIT S3 เหมาะกับใคร ?
ผมรู้สึกว่านี่คือหูฟังที่เกิดมาเพื่อขาย (คุณภาพ) เสียงเป็นหลัก ในมุมมองของคนเล่นเครื่องเสียงไฮไฟผมคิดว่ามันเป็นหูฟังไร้สายที่เสียงดีมาก ๆ ครับ โดยมีระบบไร้สายช่วยอำนวยความสะดวกให้เหมาะกับการใช้งานในยุคสมัยนี้มากยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่กำลังมองหาหูฟังไร้สายเสียงดี (มาก) สักตัวหนึ่งไปใช้งานจริงจังหรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัว ไม่แคร์ว่าต้องมีระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ ไม่แคร์ว่าจะต้องมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ ไม่แคร์ว่าจะต้องมีโหมดจำลองเสียงโอบล้อมรอบทิศทาง ไม่แคร์ว่าเมื่อใช้งานในโหมดเสียบสายแล้วยังจำเป็นต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในตัวหูฟัง (ซึ่งความจริงแบตมันอึดมาก) นี่คือหูฟังที่คุ้มค่าการลงทุนทุกบาททุกสตางค์ครับ ผมเองรีวิวแล้วยังอยากมีไว้ใช้งานส่วนตัวเลย ! (จริงจัง)
EDIFIER STAX SPIRIT S3 ราคา 12,900 บาท มีจำหน่ายที่ 425 Degree: https://bit.ly/3QRZjrc
รีวิว EDIFIER : STAX SPIRIT S3 “หูฟังไร้สายพลานาร์แมกเนติกที่เกิดมาเพื่อขาย (คุณภาพ) เสียง ในราคาจับต้องได้” - AV Tech Guide
Read More