"แมว" นับเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคนไทย แม้ว่าแมวจะทำให้บรรดา "ทาสแมว" คลายเหงาได้ดี แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่แพ้ขนแมว โดยพบว่า อัตราการแพ้ขนแมวมีมากถึง 12.9% แต่ แพ้ขนสุนัข 10% เท่านั้น
Krungthai COMPASS เผยข้อมูลของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า ในปี 2564 สัดส่วนครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยง (Pet Ownership) จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเฉลี่ยที่ 67% ในช่วงปี 2561 - 2563 โดยเฉพาะสุนัขและ แมว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าประเภทอื่น
ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials หรือกลุ่มอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง และมีแนวโน้มในอนาคตจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกในสัดส่วนที่มากที่สุด
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ในไทย 4 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูเทรนด์ความนิยมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ในปี 2562 ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโต มีมูลค่ากว่า 35,453 ล้านบาท โดยเฉพาะ
- "อาหารสัตว์เลี้ยง" มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 15,954 ล้านบาท
- "ธุรกิจให้บริการสัตว์เลี้ยง" มูลค่า 11,345 ล้านบาท
- "ธุรกิจอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง" 8,154 ล้านบาท
(ที่มา : Pet Expo Thailand 2020)
ข้อมูลจาก Euromonitor คาดว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก จะอยู่ที่ 110,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 156,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% ต่อปี
เช่นเดียวกับมูลค่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ของไทย ในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 40,638 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,495 ล้านบาท ในปี 2569 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3% ต่อปี
ข้อมูลจาก kaidee.com พบว่า แมว กลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์ม โดยสายพันธุ์ยอดฮิตที่คนไทยค้นหาสูงสุดได้แก่ สก็อตติชโฟลด์ ตามด้วยอเมริกัน ช็อตแฮร์ และ เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ โดยมีราคาจำหน่ายเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนไทยแพ้ขนแมว มากกว่าสุนัข
ทั้งนี้ "แมว" นับเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคนไทย "ทาสแมว" หลายคนเลี้ยงแมวเพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงา ทำให้ผ่อนคลาย บรรเทาความเครียดได้ แต่ก็มีผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการแพ้แมว ปี 2561 มีการเก็บข้อมูลในคลินิกโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า คนไทยแพ้แมว 12.9% และ แพ้สุนัข 10% เท่านั้น
อาการแพ้ขนแมว
ข้อมูล จาก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า "แมว" เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคนไทย แต่พบว่าตามสถิติแล้ว คนไทยมีอาการแพ้ขนแมวถึง 10 - 15%
โดยมีอาการแพ้ขนแมวดังนี้
- อาการแพ้ขนแมว มีอาการคัน หรือบวมบริเวณเนื้อเยื่อรอบดวงตา
- มีอาการตาอักเสบ
- มีผื่นขึ้นที่ใบหน้า คอ หรือหน้าอกส่วนบน
- คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ระคายคอ และบางครั้งหายใจผิดปกติ
ทั้งนี้ อาการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแพ้
ใครที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
ผู้ป่วยโรคหืดหอบ เป็นกลุ่มที่ต้องคอยระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมว เนื่องจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากขนแมว อาจทำให้เกิดการกำเริบของโรคหืดเฉียบพลัน หรือเกิดโรคหืดเรื้อรังได้
สาเหตุของการแพ้ขนแมว
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายว่า การแพ้ขนแมวอาจมีที่มาจากสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากน้ำลายและผิวหนังของแมว เพราะสารก่อภูมิแพ้อาจติดมากับขนแมวขณะที่แมวเลียขนตัวเอง แล้วขนก็อาจจะลอยขึ้นไปในอากาศ
ซึ่งเมื่อเราสูดดมสารดังกล่าวเข้าไปก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะอนุภาคของสารก่อภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยงนั้นสามารถติดไปกับเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และที่นอนของเรา ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่ได้เลี้ยงแมวก็อาจจะมีอาการแพ้ขนแมวได้เช่นกัน
การตรวจวินิจฉัยอาการแพ้ขนแมว
มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ
- การทดสอบทางเลือด และการทดสอบทางผิวหนังโดยวิธีการสะกิด (Skin prick test) ซึ่งวิธีหลังจะให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีแรก
- ยาบางชนิดที่คนไข้รับประทานอาจรบกวนต่อการทดสอบผิวหนัง ดังนั้นควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคภูมิแพ้ก่อนการทดสอบ
วิธีป้องกันอาการแพ้ขนแมว
การไม่เลี้ยงแมวเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการแพ้ขน แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็มีทางเลือกเพื่อลดอาการแพ้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแมวในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน
- ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสแมว
- ถ้าในบ้านมีการปูพรม ควรนำพรมออก เพื่อลดการสะสมของสารก่อภูมิแพ้และขนแมว
- ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน
- หมั่นล้างทำความสะอาดไส้กรองแอร์ และเปลี่ยนเมื่อถึงกำหนด
- ดูดฝุ่นภายในบริเวณบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมถึงของเล่นและที่นอนของเจ้าเหมียว และควรใช้หน้ากากปิดจมูกขณะปัดฝุ่น และทำความสะอาดด้วย
- เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหนังไม่ควรทำจากผ้า เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด
- อาบน้ำให้แมวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และแปรงขนให้แมวทุกวัน เพื่อลดเศษขนและฝุ่นละอองที่สะสมไว้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 150 นาที เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด ให้ใช้ยาพ่นจมูกหรือยาพ่นทางคอ เพื่อช่วยป้องกันอาการกำเริบ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเลี้ยงสัตว์อะไร ไม่ว่าจะเป็น หมา แมว นก หนู กระต่าย ควรศึกษาหาข้อมูลของสัตว์แต่ละประเภทให้ดี เพื่อที่เราจะได้เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น และมั่นใจได้ว่าเราจะเลี้ยงเขาให้ดีและมีความสุขได้ ควรเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ ไม่ควรทิ้งๆขว้างๆ หรือปล่อยปละละเลย
"ทาสแมว" ต้องรู้ ! เช็ก อาการแพ้ขนแมว กลุ่มไหนต้องระวังเป็นพิเศษ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment